วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

การขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาการผลิตกาแฟพรีเมี่ยม ปี 2563 กันยายน 2563

 

 ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แผนแม่บทเกษตร 4.0 ด้านการยกระดับมาตรฐานเกษตรแปรรูป โดยกรมวิชาการเกษตรมีนโยบายส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรให้มีคุณภาพดี ปลอดสารพิษ และมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล และได้สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาการผลิตกาแฟสู่ระดับพรีเมี่ยมในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ ชุมพร และสตูล มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 300 ราย และได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรพรีเมี่ยมต้นแบบรวมทั้งโรงงานต้นแบบทั้งสิ้น 7 ราย 

 เกษตรกรกาแฟได้พัฒนากาแฟสู่มาตรฐานพรีเมี่ยมโดยใช้ชุดเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงการเขตกรรมกาแฟโดยใช้พันธุ์กาแฟแนะนำและเทคโนโลยีการปลูกของกรมวิชาการเกษตร การใช้ดัชนีการเก็บเกี่ยวกาแฟที่ช่วยลดข้อจำกัดด้านแรงงานและส่งเสริมคุณภาพการเก็บเกี่ยวที่ได้มาตรฐาน เทคโนโลยีการหมักกาแฟเพื่อการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพคงที่ ควบคุมได้ ประหยัดการใช้ทรัพยากรน้ำ เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เก็บรักษากาแฟเพื่อยืดอายุและป้องกันแมลงทำลายผลผลิตกาแฟ เทคโนโลยีการคั่วกาแฟลดสารพิษกลุ่ม Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAHs) และ Ochartoxin A (OTA) เทคนิคการคัดเกรดกาแฟเพื่อการซื้อขายและส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายกาแฟอย่างยุติธรรม รวมทั้งการประเมินคุณภาพกาแฟให้ได้รับการยอมรับเพื่อมุ่งสู่การซื้อขายกาแฟในตลาดสากล โดยเกษตรกรสามารถยกระดับการผลิตกาแฟสู่ระดับพรีเมี่ยมตามมาตรฐานที่โครงการกำหนด ซึ่งจะต้องได้รับคะแนนผลการชิมไม่น้อยกว่า 80 คะแนนจากวิธีการทดสอบชิมโดยสมาภัณฑ์กาแฟโลก รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายการผลิตกาแฟพรีเมี่ยมหรือ RFE network (Research Farmer Entrepreneur network) ทั่วประเทศ

 แผนการดำเนินการของโครงการในปีต่อไปจะมุ่งการพัฒนาเครือข่ายที่เข้มแข็ง พร้อมขยายพื้นที่สู่จังหวัดต่อยอด และเพิ่มจำนวนเกษตรกรพรีเมี่ยม ผ่านกิจกรรมสำคัญ 2 กระบวนทัศน์ ได้แก่ โครงการแคมป์แลกเปลี่ยนสร้างสรรค์กาแฟพรีเมี่ยม (X-camp) ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรสร้างเครือข่ายด้านการพัฒนากาแฟและสนับสนุนทางเทคโนโลยี และโครงการสัมมนาเทคโนโลยีเฉพาะทางการผลิตกาแฟพรีเมี่ยม (A la carte Seminar) เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ถูกจุด ทั้งนี้การผลักดันเมล็ดกาแฟไทยสู่มาตรฐานกาแฟระดับโลกเพื่อการแข่งขันและยกระดับสู่ “เกรดพรีเมี่ยม” นี้ จักเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปโดยการทำงานที่เป็นเครือข่ายระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และนักวิจัยร่วมกับสถาบันนานาชาติจะส่งเสริมการใช้เมล็ดกาแฟในระดับประเทศและโลก ปรับคุณภาพสินค้ากาแฟสู่กาแฟพรีเมี่ยมอย่างแท้จริง








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น