วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เลขาธิการ คปภ. ยกทีมลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี • นำระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ - ไข้เลือดออก ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนในพื้นที่

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)  เป็นประธานเปิดโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย พ.ร.บ. และการประกันภัยอุบัติเหตุ”  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย และมอบกรมธรรม์ประกันภัยโรคร้ายแรงจากยุง และกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ให้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 100 คน โดยมีคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ.  ร่วมลงพื้นที่จัดกิจกรรมตามโครงการ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2563 ณ แคมป์ช้างทวีชัย บ้านช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

 

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำโครงการอบรมความรู้ประกันภัย พ.ร.บ. และการประกันภัยอุบัติเหตุขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 และการประกันภัยอุบัติเหตุ (ไมโครอินชัวรันส์ 100 บาท) ให้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. และประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี รวมจำนวน 100 คน ซึ่งจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมตามโครงการดังกล่าว ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำประกันภัย สามารถใช้สิทธิตามสัญญาประกันภัยได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนในชุมชน อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวมต่อไป

 

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงระหว่างฤดูปลายฝนต้นหนาว และได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน ทำให้มีฝนตกเป็นระยะ ๆ มักมีน้ำท่วมขัง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก สำนักงาน คปภ. จึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อให้ความคุ้มครองภัยจากโรคไข้เลือดออก โดยเลขาธิการ คปภ. ในฐานะนายทะเบียน ได้มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 41/2562 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อบรรเทาภาระทางการเงินให้แก่ประชาชนที่อาจเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งถือเป็นแบบกรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐานที่ให้ความคุ้มครองโรคไข้เลือดออกฉบับแรกของประเทศไทย โดยการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในทุกระดับ เนื่องจากมีราคาไม่แพง และยังส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นว่า กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกลุ่มบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งต้องเดินทางเข้าสู่พื้นที่เพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย ทำให้มีความเสี่ยงภัยไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางหรือความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยด้านสุขภาพ ดังนั้น ด้วยความห่วงใยอย่างยิ่ง สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม (CSR) โดยได้มอบกรมธรรม์ประกันภัยโรคร้ายแรงจากยุง ให้แก่กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 100 กรมธรรม์ เบี้ยประกันภัย 89 บาทต่อคน ให้ความคุ้มครองโรคร้ายแรงจากยุง จำนวน 5 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออกเดงกี โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา และโรคไข้จับสั่น หรือโรคไข้ป่า โดยมีวงเงินเอาประกันภัย จำนวน  10,000 บาทต่อคน พร้อมมอบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 100 กรมธรรม์ เบี้ยประกันภัย 11 บาทต่อคน ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า และสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง มีวงเงินเอาประกันภัย จำนวน 10,000 บาทต่อคน และขยายความคุ้มครองการถูกฆาตกรรม/การขับขี่รถจักรยานยนต์ วงเงินเอาประกันภัย 5,000 บาทต่อคน 

 

 

“ในโอกาสนี้ ผมต้องขอขอบคุณแคมป์ช้างทวีชัย จังหวัดกาญจนบุรี ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว และได้เห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงด้วยการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพื่อให้ความคุ้มครองนักท่องเที่ยวทุกคนที่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวในแคมป์ช้างแห่งนี้ อย่างไรก็ดี ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ ดังนั้น ทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น