วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สทน. – กรมศิลปากร จับมือต่ออายุความร่วมมือทางวิชาการอีก 5 ปี ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์สนับสนุนงานด้านโบราณคดีของชาติ

 


สืบเนื่องจากการที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ จัดตั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปรังสี และได้ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อตรวจวิเคราะห์หาอายุโบราณวัตถุ จึงทำให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สทน. และกรมศิลปากร และได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในปี 2557 เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า ฟื้นฟูอนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของชาติ มีกรอบระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2563 จากความสำเร็จในการร่วมดำเนินกิจกรรม ทั้งสองหน่วยงานจึงเห็นพ้องที่จะขยายกรอบเวลาความร่วมมือดังกล่าว โดยมีผู้แทนจาก สทน. คือ รศ. ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร และได้กำหนดพิธีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (ฉบับที่ 2) ในวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 5 กรมศิลปากร (เทเวศร์)

รศ. ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจสอบหาอายุของโบราณวัตถุ เพราะเป็นเทคนิคการวิเคราะห์ที่ไม่ทำลายตัวอย่าง หรือใช้ตัวอย่างในปริมาณที่น้อยมาก สทน. ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปรังสี และใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อตรวจวิเคราะห์หาอายุโบราณวัตถุมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ปัจจุบันเทคนิคที่ สทน. ใช้ในการวิเคราะห์มี 2 แบบ คือ การวิเคราะห์โดยอาศัยคาร์บอน -14 (C-14dating) และการวิเคราะห์อายุโดยการเรืองแสงความร้อน (TL/OSL dating) จากขีดความสามารถในเรื่องดังกล่าว สทน. และกรมศิลปากร จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า ฟื้นฟูอนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของชาติ มีกรอบระยะเวลา 5 ปี โดยกำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ 1) งานวิจัยและพัฒนา 2) การสำรวจ วิเคราะห์ และเก็บตัวอย่าง 3) การเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ ในช่วงที่ผ่านมา สทน. และกรมศิลปากร ได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกันหลายอย่าง เช่น ร่วมกันวิจัยกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในการวิเคราะห์ทองคำโบราณจากกรุวัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทองคำโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์จะถูกนำเสนอไว้ในพิพิธภัณฑ์ทองหลังใหม่ของพิพิธภัณฑ์ฯ เจ้าสามพระยา

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพื่อร่วมศึกษา วิจัย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการสนับสนุนการศึกษาวิจัย ฟื้นฟู อนุรักษ์ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ภายในกรอบระยะเวลา ๕ ปี โดยมีผลงานความร่วมมือทั้งด้านการวิจัย พัฒนา การสำรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างในพื้นที่โบราณสถานอย่างน่าสนใจ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีในปัจจุบันมาใช้สนับสนุนภารกิจของกรมศิลปากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความเห็นร่วมกันให้มีการขยายระยะเวลาความร่วมมือต่อไป โดยกำหนดระยะเวลา ๕ ปี ทั้งการศึกษา วิจัย และพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์โบราณวัตถุชิ้นพิเศษและองค์ประกอบทางเคมีของโบราณวัตถุและวัสดุเพื่องานอนุรักษ์ การศึกษาระบบการจัดการน้ำในอดีตของชุมชนโบราณ การวิเคราะห์ตัวอย่างจากการขุดค้นเพื่อหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาโครงสร้างภายในวัตถุโดยใช้รังสี


จากประโยชน์ได้รับจากการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเมื่อปี พ.ศ.2557 กรมศิลปากร และ สทน. จึงเห็นพ้องร่วมกันว่า สมควรที่จะขยายระยะเวลาของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการออกไปอีก 5 ปี สำหรับขอบเขตความร่วมมือ กรมศิลปากร และ สทน. จะประสานความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อยกระดับความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของบุคลากรทั้งสองฝ่าย ร่วมกันศึกษา วิจัย และพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า ฟื้นฟูและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดย สทน. และกรมศิลปากร ตกลงร่วมกันในการจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินการเพื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจนบรรลุผลสำเร็จ

รศ.ดร. ธวัชชัย กล่าวสรุปว่า การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามาช่วยในการศึกษาโบราณวัตถุ ทำให้เราไม่ต้องส่งชิ้นส่วนของโบราณวัตถุไปตรวจสอบอายุในต่างประเทศเช่นในอดีตที่ผ่านมา เป็นเทคโนโลยีที่สามารถดำเนินการได้เองในประเทศไทย การตรวจวิเคราะห์ก็มีความถูกต้องแม่นยำ อีกทั้ง ห้องปฏิบัติการไอโซโทป ของ สทน. ยังได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จำนวนหนึ่งจาก IAEA อีกด้วย. สทน. ได้พัฒนาปรับปรุงห้องปฏิบัติการตลอดเวลา และเชื่อว่าห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมและโบราณคดีของ สทน. มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น