▼
วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
“คุณหญิงกัลยา” เปิดตัวหนังสือผลงาน 1 ปี วางรากฐานการศึกษา พร้อมก้าวสู่ปีที่ 2 มุ่งปฏิรูปการศึกษา ดันเด็กไทยไม่แพ้ชาติในโลก
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เปิดตัวหนังสือ “ใกล้ชิด เกาะติด พัฒนาการศึกษาไทย ทันโลกในศตวรรษที่ 21” สรุปผลงาน 1 ปี วางรากฐานการศึกษา พร้อมก้าวสู่ปีที่ 2 เดินหน้าปฏิรูป ดันเด็กไทยทัดเทียมสากล
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาได้วางนโยบายโดยเน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ภายใต้นโยบายหลัก 4 เรื่องคือ โค้ดดิ้ง (Coding) การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย และอาชีวะเกษตร ถือเป็นการสร้างพื้นฐานให้กับผู้เรียนและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน
สำหรับ หนังสือ “ใกล้ชิด เกาะติด พัฒนาการศึกษาไทย ทันโลกในศตวรรษที่ 21” เล่มนี้ เป็นการรวบรวมผลงานที่ถือเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของทีมครูกัลยา ทั้งในส่วนของทีมที่ปรึกษา คณะทำงาน และหน่วยงานในกำกับดูแลทุกคน ที่ได้ทุ่มเททำงานด้วยความตั้งใจ ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน ร่วมผลักดันก่อให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อที่จะพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป
“หนังสือผลงาน 1 ปีคุณหญิงกัลยา ใกล้ชิด เกาะติด พัฒนาการศึกษาไทย ทันโลกในศตวรรษที่ 21 เล่มนี้ไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอผลงาน แต่ยังมีการการนำเสนอแนวพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ที่ทรงให้ความสำคัญกับการวางรากฐานการศึกษาไทย ที่มาของพิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย และแนวนโยบายรวมถึงการขับเคลื่อนและผลักดันผ่านหน่วยงานในกำกับดูแลหลายด้าน อาทิ เรื่องโค้ดดิ้ง (Coding) งานด้านอาชีวะเกษตร งานด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงานด้านการศึกษาทางเลือกสำหรับผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่แนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม “STI” (Science-Technology-Innovation) ซึ่งดิฉันมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ทั้งนี้ สาระสำคัญอีกประการหนึ่งในหนังสือเล่มนี้คือการสื่อให้เห็นถึงความทันสมัยในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Augmented Reality (AR) โดยผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดใช้แอปพลิเคชัน Kukanlaya AR จาก Play Store หรือ App Store และเปิดแอปพลิเคชัน Kukanlaya AR เพื่อเริ่มใช้งาน AR สแกนเนื้อหาในหนังสือที่มีไอคอนแอปพลิเคชัน Kukanlaya ก็จะพบวีดีทัศน์นำเสนอเรื่องราวหลายอย่างที่น่าสนใจโดยเฉพาะประเด็นมุมมองของผู้ร่วมงานที่เป็นทีมครูกัลยาที่สำคัญในการช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายมาตลอดระยะเวลาหนึ่งปี
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า การก้าวขึ้นสู่ปีที่ 2 จะเดินหน้านโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้น ภายใต้แนวคิด ทันสมัย-เท่าเทียม-ยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ทั้งด้านการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ความมีเหตุผล และการสร้างสรรค์นวัตกรรม ให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนในแต่ละช่วงวัยตามความเหมาะสม ทั้งเด็กปกติ เด็กพิการและด้อยโอกาส รวมถึงกลุ่มเด็กพิเศษ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
SUN ร่วมกับ NIA ผลักดันกลุ่มสตาร์ทอัพภาคเกษตรพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทย
"บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) (SUN) นำโดย ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) กับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center: ABC Center) ในโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก “Inno4Farmers :The First AgTech Co-creation Program”
เปิดโอกาสให้กลุ่ม Startup ได้พัฒนาขีดความสามารถ เพื่อแก้ปัญหาภาคการเกษตร นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำเกษตรกรรมของประเทศ และยกระดับความสามารถของวิสาหกิจด้านการเกษตร จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เช่น Artificial Intelligence, Sensors – IoT - Big data, Robotics & Automationเป็นต้น ซึ่ง บมจ.ซันสวีท ได้ร่วมกำหนดโจทย์ปัญหา คัดเลือกและให้คำปรึกษา AgTech Startup รวมทั้งร่วมพัฒนาสนับสนุน ให้เกิดการขับเคลื่อนและพลิกโฉมของภาคการเกษตรของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
เครือซีพี จับมือภาครัฐ-ชุมชน ร่วมปลูกป่าต้นน้ำภาคเหนือ ลดโลกร้อน
ป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์เป็นรากฐานสำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยประโยชน์ของป่าไม้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงป่าไม้เป็นแหล่งอาหารของคน ส่วนทางอ้อมป่าไม้ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม เช่น ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ไม่เพียงเท่านี้พื้นที่สีเขียวของป่ายังเป็นตัวช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นเหตุสำคัญของโลกร้อน
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ตระหนักและมุ่งมั่นมีส่วนร่วมรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ ได้ประกาศเป็นนโยบายให้ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ขับเคลื่อนมิติด้านความยั่งยืนควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ จัดกิจกรรม "WE GROW ปลูกเพื่อความยั่งยืน พื้นที่ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน" ร่วมกับภาครัฐ และชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำ ปิง วัง ยม และ น่าน ดำเนินการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 508,224 ต้น พื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่ ในช่วงปี 2559-2562 และในปี 2563 นี้ เริ่มต้นด้วยการปลูกต้นไม้พื้นที่ต้นน้ำยมเป็นแห่งแรก ในพื้นที่บ้านดอนไชยป่าแขม อ.ปง จ.พะเยา เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว
กิจกรรมนี้ได้รับเกียรติจาก นายกมล เชียงวงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารเครือซีพี นำโดย นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด นำพนักงานซีพีอาสา หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และชาวบ้านในชุมชนกว่า 250 คน ร่วมกันปลูกต้นไม้ ได้แก่ ต้นเเคนา ราชพฤกษ์ ต้นหว้า พยุง ตะเคียนทอง สารภี ยางนา สัก ไผ่ และมะม่วง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เติบโตได้ดีและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่
นายจอมกิตติ ศิริกุล กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน มาตั้งแต่ปี 2559–2562 โดยปีนี้ได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต้นน้ำยม ณ บ้านดอนไชยป่าแขม อ.ปง จ.พะเยา เป็นการเริ่มต้นโครงการในพื้นที่ต้นน้ำภาคเหนือ ประจำปี 2563 เป็นแห่งแรก และจะทยอยปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต้นน้ำปิง วัง และน่าน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศน์
ป่าต้นน้ำแห่งนี้ ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ คนในชุมชน โดยส่งเสริมการปลูกไผ่และพืชมูลค่าสูง เช่น กาแฟโรบัสต้า เป็นการเพิ่มอาชีพทางเลือก ปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรและเกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
กิจกรรม "WE GROW ปลูกเพื่อความยั่งยืน พื้นที่ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน" ยังคงเดินหน้าปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในปีนี้ทั้งหมดรวม 100,000 ต้น
วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ชวนเที่ยวงานพระแม่แห่งแผ่นดิน 1 – 2 สิงหาคมนี้
สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ปทุมธานี เตรียมจัดงาน “พระแม่แห่งแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 1- 2 สิงหาคม 2563 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 88 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2563 กิจกรรมภายในงานมีการจัดนิทรรศการองค์ความรู้ทางด้านเกษตร การอบรมวิชาของแผ่นดินจากเกษตรกร ผู้ปฏิบัติจริง รวมถึงการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ปทุมธานี
นายสหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า “...การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 88.พรรษา 12 สิงหาคม 2563 ภายในงานจัดนิทรรศการฟูมฟักรักเกษตร นิทรรศการสานต่อสร้างอาชีพ กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ประดิษฐ์ดอกไม้แทนใจมอบให้แม่ และเปิดอบรมวิชาของแผ่นดิน อบรมเชิงปฏิบัติการ พร้อมด้วยกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย”
ชมและเรียนรู้นิทรรศการฟูมฟักรักเกษตร การทำเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เริ่มจากการคัดเมล็ดพันธุ์ การปลูก การดูแลสู่การแปรรูปและการตลาด ฟูมฟักทะนุทนอมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมากด้วยคุณภาพสู่ผู้บริโภคสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
นิทรรศการสานต่อสร้างอาชีพ เรียนรู้การสานต่อ สร้างอาชีพจากหัตถกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พออยู่พอกินพึ่งตนเองได้
เปิดอบรมวิชาของแผ่นดิน และอบรมเชิงปฏิบัติการ กว่า 10 หลักสูตร ไม่มีค่าใช้จ่าย อาทิ หลักสูตรเห็ดเศรษฐกิจ สร้างรายได้ สู่ความมั่นคง โดยอาจารย์อดุลย์ วิเชียรชัย เจ้าของสวนอดุลย์ฟาร์มเห็ด จ.ปทุมธานี หลักสูตรสวนผัก กลางกรุง โดยอาจารย์คมสันต์ หุตะแพทย์ บรรณาธิการวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ กรุงเทพฯ
หลักสูตรผักหวานป่า สร้างรายได้ โดยอาจารย์สุวัฒนชัย จำปามูล เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.นครราชสีมา
หลักสูตรสุขภาพดี ด้วยแพทย์วิถีธรรม โดยอาจารย์สุเมธ พรหมรักษา เครือข่ายแพทย์วิถีธรรม จ.ลำพูน
หลักสูตรไข่ไก่ปลอดสาร สูตรอาหารทำเอง โดยอาจารย์ขวัญใจ เนตรหาญ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.สระบุรี
หลักสูตรการทำมะนาวแฟนซี โดยอาจารย์วีรยุทธ ศรีเลอจันทร์ (ทอง ธรรมดา) เจ้าของสวนเพชรพิมาย จ.นครราชสีมา เป็นต้น
พิเศษเฉพาะเดือนนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมรับทันที “เมล็ดถั่วพร้า” ถั่วมากคุณค่านำมาทำปุ๋ยพืชสด ปรับปรุงดิน
นิทรรศการพิเศษ “จักสืบ จักสาน อัตลักษณ์ วัฒนธรรมเกษตร” นิทรรศการที่รวบรวมเครื่องจักสานของเกษตรกรที่เคยมีการใช้งานมาจัดแสดง เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนผ่านเครื่องจักสานที่สืบทอด สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจถึงที่มา และความสำคัญของเครื่องจักสานอันเป็นอัตลักษณ์จิตวิญญาณแห่งวิถีวัฒนธรรมการเกษตรจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ที่ควรคู่แก่การสืบสานและอนุรักษ์สืบต่อไป
เปิดพิเศษ!!.เข้าชม 3 พิพิธภัณฑ์ในอาคาร เรียนรู้พระอัจฉริยภาพพระมหากษัตริย์ไทย ด้านการเกษตร ที่พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา ตื่นตาตื่นใจกับการผจญภัยในป่าจำลองเสมือนจริง เรียนรู้สมดุลธรรมชาติ สมดุลชีวิต ภายในพิพิธภัณฑ์ป่าดงพงไพร ตามด้วยพิพิธภัณฑ์ดินดล เรียนรู้ความสำคัญของพระแม่ธรณีผู้โอบอุ้มทุกสรรพสิ่ง ตื่นตา ตื่นใจตะลุยโลกใต้ดินผ่านภาพยนตร์แอนิเมชั่น 360 องศา
พลาดไม่ได้กับกิจกรรมพิเศษ ในเดือนแห่งความรักนี้ร่วมประดิษฐ์ดอกไม้แทนใจมอบให้แม่ เป็นของขวัญสุดพิเศษ เป็นสื่อกลางแทนหัวใจ พร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรม “เพาะ แจก แลก เปลี่ยน” นำภาชนะเหลือใช้มาเพาะกล้าไม้กลับไปดูแลต่อที่บ้าน มีจำนวนจำกัด!
ชม ช้อป สินค้าผลผลิตเกษตรปลอดภัยที่คัดสรรมาให้เลือกซื้อ ผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล อาหารพื้นบ้าน สินค้าท้องถิ่นมากด้วยคุณภาพจากพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ทั่วประเทศ
ควงแม่เที่ยว แชะภาพกับมุมโปรดคู่ใจ!! ในโซนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด WISDOM FARM แวะจิบกาแฟ เพิ่มความสดชื่นท่ามกลางธรรมชาติบนสะพานไม้ไผ่กลางแปลงนา
ทั้งนี้ ผอ.สหภูมิ กล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า “…แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID – 19) จะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ยังคงตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้เข้าชมและเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ จึงขอความร่วมมือทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและบุคคลใกล้ชิดในรูปแบบวิถีใหม่ NEW NORMAL”
สอบถามข้อมูล รายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช (นวนคร) ริมถนนพหลโยธิน จ.ปทุมธานี โทรศัพท์ 0-2529-2212-13 มือถือ 087-359-7171, 094-649-2333 คลิกดูที่ www.wisdomking.or.th และทาง พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ LineID @wisdomkingfan
วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
เกษตรกรใต้ยืนหยัดดูแลผู้บริโภค ย้ำขายหมูหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท พร้อมจับมือพาณิชย์-สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จัด "มหกรรมหมูธงฟ้า" ที่พัทลุง 30 ก.ค. นี้
นายปรีชา กิจถาวร กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทย ทำให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค ตลอดจนพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ ร่วมใจกันดูแลปกป้องประชาชนไม่ให้เดือดร้อนด้านค่าครองชีพ ด้วยการให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการตรึงราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มซึ่งเป็นต้นทางไม่ให้เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม มาโดยตลอด เพื่อให้ราคาจำหน่ายหมูหน้าเขียงที่ปลายทางอยู่ที่ 150-160 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้บริโภค และที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต่างร่วมกันบริหารจัดการการผลิตตลอดห่วงโซ่เพื่อให้มีปริมาณสุกรเพื่อการบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอ
“ราคาสุกรในปัจจุบันเป็นไปตามกลไกตลาด จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ส่งผลให้กิจการและกิจกรรมหลายส่วนเริ่มเปิดดำเนินการ การจับจ่ายใช้สอยกลับมาคึกคัก ประกอบกับสถานศึกษาทั่วประเทศเปิดทำการเรียนการสอนแล้ว ยิ่งทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้เลี้ยงทุกคนจะยืนหยัดในการผลิตสุกรให้เพียงพอกับการบริโภค ย้ำว่าประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนสุกรอย่างแน่นอน ที่สำคัญจากโครงการ “เนื้อหมู...สู้โควิด” ของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรที่เริ่มดำเนินการแล้วในจังหวัดชลบุรี ด้วยการขายเนื้อหมูกิโลกรัมละ 130 บาท จากฟาร์มถึงมือผู้บริโภคไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง รวมถึงห้างค้าส่ง ค้าปลีก ต่างร่วมกิจกรรมทั่วประเทศ ส่งผลให้สถานการณ์ราคากลับสู่ภาวะปกติแล้ว” นายปรีชากล่าว
นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตสุกรว่า จากปัญหาโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ที่มีการระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านทั้งจีน เวียดนาม เมียนมา ฯลฯ ทำให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศดังกล่าวเสียหายอย่างหนัก ปริมาณสุกรหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อราคาเนื้อสุกรในประเทศเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว เช่น จีนราคาหมูหน้าเขียงกิโลกรัมละ 350 บาท เวียดนาม 250 บาท และกัมพูชา 200 บาท เป็นต้น โรค ASF ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเกิดความวิตกกังวล และตัดสินใจเลิกอาชีพเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเกษตรกรในภาคใต้หายออกไปจากระบบถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้ปริมาณแม่พันธุ์รวมเหลืออยู่ประมาณ 80,000 ตัว จากเดิมที่มีแม่พันธุ์มากกว่า 100,000 ตัว อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังสามารถป้องกันโรค ASF ไว้ได้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมนี้ และคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ประสบปัญหาขาดแคลนและเดือดร้อนจากภาวะราคาดังเช่นประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ สมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ จะร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ จัด "มหกรรมหมูธงฟ้า" ส่งตรงหมูสดจากฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงสู่ผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนนโยบายการช่วยเหลือผู้บริโภค ในวันที่ 30 กรกฎาคม ศกนี้ ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง และจัดพร้อมกันทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ในวันที่ 7 สิงหาคม โดยพื้นที่ภาคใต้เบื้องต้นจะจัดที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทยอยจัดจำหน่ายประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อวัน
สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ 8 ลุ่มน้ำสำคัญ แก้ปัญหาน้ำในทุกมิติ คาดแล้วเสร็จทุกลุ่มน้ำทั่วประเทศภายในปี 66
สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ 8 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี มูล บางปะกง แม่กลอง สะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีน หลังประสบความสำเร็จจากผังน้ำต้นแบบที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี เตรียมใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำยุคใหม่ มั่นใจช่วยแก้ไขปัญหาด้านน้ำในทุกมิติอย่างยั่งยืน พร้อมขยายผลให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศภายในปี 66
วันนี้ (29 กรกฎาคม 2563) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวและเปิดการสัมมนา หัวข้อ “เดินเครื่อง 8 ลุ่มน้ำ จัดทำผังน้ำ เครื่องมือบริหารน้ำยุคใหม่” ณ ห้องสุทธิดา ชั้น 2 โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ว่า สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำผังน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 โดยเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัเกษตรศาสตร์ ศึกษาโครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ เพื่อกำหนดกรอบแนวทาง วิธีการศึกษาการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบ แผนที่ผังน้ำให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและใช้ประโยชน์ได้ และได้คัดเลือกลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี ศึกษาจัดทำผังน้ำเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับการจัดทำผังน้ำ ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ต่อไป และในปีนี้ สทนช. ได้ขยายผลต่อยอดการดำเนินการโดยคัดเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน จำนวน 8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน มาดำเนินการศึกษาก่อนและจะทยอยดำเนินการให้ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำภายในปี 2566
สำหรับกระบวนการในการดำเนินการศึกษานั้น จะต้องมีการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ
1. แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง
2. แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา
3. แผนที่แสดงจุดประกาศภัยแล้ง การบริหารจัดการภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแผนที่แสดงสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ โดยใช้แบบจำลองในกรณีศึกษา อย่างน้อย 5 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 กำหนดขอบเขตผังน้ำจากสภาพพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค (โครงข่ายถนน และช่องเปิดต่าง ๆ) ในสภาพปัจจุบัน
กรณีที่ 2 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและช่องเปิดต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ผังน้ำไม่ให้เกิดการกีดขวางทางน้ำ
กรณีที่ 3 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความชัดเจนในการดำเนินการ
กรณีที่ 4 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและช่องเปิดต่าง ๆ ในพื้นที่ผังน้ำร่วมกับการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ และการเสนอเพิ่มเติมโดยผู้ศึกษา
กรณีที่ 5 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การพัฒนาเมืองหรือพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญในลุ่มน้ำ ที่อาจจะส่งผลกระทบในพื้นที่ผังน้ำร่วมกับการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ และการเสนอเพิ่มเติมโดยที่ปรึกษา
ทั้งนี้ในการศึกษาของทุกลุ่มน้ำจะต้องจัดทำแผนปรับปรุง ฟื้นฟูทางน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก และในกรณีที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำจะต้องเสนอแนะขนาดของช่องเปิดของอาคารในลำน้ำ รวมทั้งดำเนินการศึกษาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งแสดงรายละเอียดข้อมูลของผังน้ำ ประกอบด้วย ขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมถึงตลอดทั้งสองฝั่งลำน้ำ ขอบเขตพื้นที่ผังน้ำ ขอบเขตโซนพื้นที่ในผังน้ำ (พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมระดับสูง กลาง ต่ำ ระดับต่าง ๆ) และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้มีการพัฒนาในพื้นที่ผังน้ำ จะมีหลักเกณฑ์ในการพัฒนาและการก่อสร้างเพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วมและความเสี่ยงจากการก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในพื้นที่ด้วย
“การศึกษาของทั้ง 8 ลุ่มน้ำในครั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ16 เดือน เริ่มวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 และจะศึกษาแล้วเสร็จในวันที่ 20 กันยายน 2564 โดยจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จำนวน 4 ครั้งต่อลุ่มน้ำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณา พร้อมสะท้อนปัญหาและความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำผังน้ำไปใช้สนับสนุนแผนงานการป้องกันแก้ไขภัยแล้งและอุทกภัย รวมทั้งการบริหารจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำได้อีกด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย