วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เกษตรกรใต้ยืนหยัดดูแลผู้บริโภค ย้ำขายหมูหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท พร้อมจับมือพาณิชย์-สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จัด "มหกรรมหมูธงฟ้า" ที่พัทลุง 30 ก.ค. นี้


          นายปรีชา กิจถาวร กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทย ทำให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค ตลอดจนพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ ร่วมใจกันดูแลปกป้องประชาชนไม่ให้เดือดร้อนด้านค่าครองชีพ ด้วยการให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการตรึงราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มซึ่งเป็นต้นทางไม่ให้เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม มาโดยตลอด เพื่อให้ราคาจำหน่ายหมูหน้าเขียงที่ปลายทางอยู่ที่ 150-160 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้บริโภค และที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต่างร่วมกันบริหารจัดการการผลิตตลอดห่วงโซ่เพื่อให้มีปริมาณสุกรเพื่อการบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอ


          “ราคาสุกรในปัจจุบันเป็นไปตามกลไกตลาด จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ส่งผลให้กิจการและกิจกรรมหลายส่วนเริ่มเปิดดำเนินการ การจับจ่ายใช้สอยกลับมาคึกคัก ประกอบกับสถานศึกษาทั่วประเทศเปิดทำการเรียนการสอนแล้ว ยิ่งทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้เลี้ยงทุกคนจะยืนหยัดในการผลิตสุกรให้เพียงพอกับการบริโภค ย้ำว่าประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนสุกรอย่างแน่นอน ที่สำคัญจากโครงการ “เนื้อหมู...สู้โควิด” ของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรที่เริ่มดำเนินการแล้วในจังหวัดชลบุรี ด้วยการขายเนื้อหมูกิโลกรัมละ 130 บาท จากฟาร์มถึงมือผู้บริโภคไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง รวมถึงห้างค้าส่ง ค้าปลีก ต่างร่วมกิจกรรมทั่วประเทศ ส่งผลให้สถานการณ์ราคากลับสู่ภาวะปกติแล้ว” นายปรีชากล่าว


          นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตสุกรว่า จากปัญหาโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ที่มีการระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านทั้งจีน เวียดนาม เมียนมา ฯลฯ ทำให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศดังกล่าวเสียหายอย่างหนัก ปริมาณสุกรหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อราคาเนื้อสุกรในประเทศเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว เช่น  จีนราคาหมูหน้าเขียงกิโลกรัมละ 350 บาท เวียดนาม 250 บาท และกัมพูชา 200 บาท เป็นต้น โรค ASF ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเกิดความวิตกกังวล และตัดสินใจเลิกอาชีพเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเกษตรกรในภาคใต้หายออกไปจากระบบถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้ปริมาณแม่พันธุ์รวมเหลืออยู่ประมาณ 80,000 ตัว จากเดิมที่มีแม่พันธุ์มากกว่า 100,000 ตัว อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังสามารถป้องกันโรค ASF ไว้ได้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมนี้ และคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ประสบปัญหาขาดแคลนและเดือดร้อนจากภาวะราคาดังเช่นประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ สมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ จะร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ จัด "มหกรรมหมูธงฟ้า" ส่งตรงหมูสดจากฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงสู่ผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนนโยบายการช่วยเหลือผู้บริโภค ในวันที่ 30 กรกฎาคม ศกนี้ ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง และจัดพร้อมกันทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ในวันที่ 7 สิงหาคม โดยพื้นที่ภาคใต้เบื้องต้นจะจัดที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทยอยจัดจำหน่ายประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น