▼
วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ปรับระบบจัดการหนี้ค้างชำระของเครดิตยูเนี่ยนบ้านซ่อง ปลูกฝังอุดมการณ์สร้างความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
การขาดความเข้าใจในบทบาทและความรู้เรื่องสหกรณ์ ขาดการบริหารจัดการสหกรณ์ที่ดี การปล่อยและติดตามสินเชื่อที่หละหลวม ส่งผลให้การดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านซ่อง จำกัด มีหนี้ค้างอยู่เป็นจำนวนมากในอดีต แต่หลังจากการสร้างความเข้าใจกับสมาชิก ปรับระบบการบริหารจัดการ การสร้างอาชีพเสริม และส่งเสริมการออมอย่างจริงจัง ส่งผลให้สหกรณ์เติบโตอย่างมั่นคงเป็นลำดับ และเกิดผลสำเร็จจนได้รับคัดเลือกเป็นสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติในวันนี้
นางกัญญา บุญรอด ผู้จัดการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านซ่อง จำกัด จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าในอดีตที่ผ่านมา สมาชิกของสหกรณ์ขาดความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง การบริหารจัดการสหกรณ์ และหลักเกณฑ์ในการปล่อยและติดตามสินเชื่อก็หละหลวม ส่งผลให้การดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน บ้านซ่อง จำกัด มีสมาชิกประมาณ 70 ราย ที่ขาดการผ่อนชำระ และไม่มีการติดต่อกับสหกรณ์มาเป็นเวลานาน จึงมีหนี้ค้างอยู่เป็นจำนวนมากประมาณ 5 - 6 ล้านบาท ทางคณะกรรมการและฝ่ายจัดการจึงได้เริ่มวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2543 โดยได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อพบปะพูดคุยกับสมาชิกที่มีหนี้ค้างทุกราย และพบว่าปัญหานั้นเกิดจากสาเหตุใหญ่ ๆ คือ บางรายมีเงินแต่ก็ไม่ยอมมาชำระหนี้ หลาย ๆ คน ขาดความสัมพันธ์กับสหกรณ์ มองสหกรณ์เป็นเพียงแค่แหล่งเงินกู้แทนที่จะรู้ว่าตนเองเป็นเจ้าของสหกรณ์ จึงไม่ยอมชำระหนี้ และยังมีอีกหลายคนที่ขาดทุนจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและไม่สามารถชำระหนี้ได้ จริง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สหกรณ์ต้องเร่งแก้ไขและช่วยเหลือ
ปัญหาเงินกู้กับ NPL (Non-Performing Loan : สินเชื่อที่ค้างชำระเงินต้น) เป็นของคู่กัน แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาต้องลงไปแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยสหกรณ์ฯ เริ่มใช้วิธีการควบคุมสัดส่วนของหนี้คงค้างไม่ให้เกิน 5 % ของวงเงินกู้ที่ปล่อยออกไปทั้งหมด ส่วนปัญหาหนี้ที่ขาดการผ่อนชำระ ฝ่ายจัดการและกรรมการได้ลงพื้นที่คุยกับสมาชิกที่มีปัญหาทุกรายเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกกับสหกรณ์ ชี้แจง ทำความเข้าใจให้เห็นถึงความสำคัญของสหกรณ์ว่าเป็นของสมาชิกทุกคน เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของสมาชิก ชี้แจงให้รู้ถึงสิทธิและหน้าที่ ผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้จากสหกรณ์ และผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากสมาชิกไม่เอาใจใส่
ในส่วนของสมาชิกที่ประสบปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้จริง ๆ เนื่องจากขาดทุนจากการประกอบอาชีพ หรือมีรายได้ไม่พอชำระหนี้ สหกรณ์จะช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิก เพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้ แต่เนื่องจากสมาชิกสหกรณ์มาจากหลากหลายอาชีพ เช่น เกษตรกรรม รับจ้าง ค้าขาย และส่วนใหญ่ขาดความรู้เรื่องการออม การบริหารจัดการเงิน จึงต้องไปช่วยวางแผนการเงินและแผนการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกแต่ละราย ตั้งแต่การคำนวณรายรับ รายจ่าย การเก็บออม การชำระหนี้ ซึ่งตนและคณะกรรมการใช้เวลาถึง 3 ปี จนสามารถทำความเข้าใจกับสมาชิกกลุ่มนี้ได้เกือบทั้งหมดและทำให้กลับมาชำระหนี้ได้เหมือนเดิม สำหรับสมาชิกรายใหม่ ๆ ที่มาขอสินเชื่อ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ที่รับเรื่องจะเป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการขอสินเชื่อ การออม การจัดการหนี้ และวินัยทางการเงิน และในวันเดียวกันนั้น สมาชิกผู้กู้จะต้องเข้าไปคุยกับคณะกรรมการเพื่อสร้างความคุ้นเคยและให้ความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์
ด้านของการให้ความรู้ สหกรณ์มีการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้แก่กรรมการ และฝ่ายจัดการในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น แนวทางการบริหารจัดการสหกรณ์ การควบคุม และดูแลสินเชื่อ ในส่วนของสมาชิก จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสหกรณ์ในด้านต่าง ๆ อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ สิทธิ หน้าที่ และสวัสดิการพื้นฐานที่จะได้รับ เช่น สวัสดิการคุ้มครองเงินกู้สำหรับสมาชิกที่กู้เงินไม่เกิน 500,000 บาท คือเมื่อสมาชิกมากู้เงินและเสียชีวิตก่อนที่จะชำระหมด เงินคงค้างที่เหลือสหกรณ์จะเป็นผู้ชำระแทน สวัสดิการเงินสมทบ สวัสดิการเยี่ยมไข้ สวัสดิการเงินเดือนให้ผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกกรุ่นแรกของสหกรณ์ฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสหกรณ์จะดูแลสมาชิกไปจนตลอดชีวิต เพราะสหกรณ์เป็นของสมาชิกทุกคน ทำให้สมาชิกเกิดความรักในองค์กร และรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของสหกรณ์
ในส่วนของการส่งเสริมอาชีพ สหกรณ์ได้มีการจัดสินเชื่อ ส่งเสริมอาชีพเพิ่มรายได้ (โครงการเงินกู้พิเศษ) เพื่อให้สมาชิกนำไปเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพเสริม มีผู้เข้าร่วมโครงการ 270 ราย จากปี 2547 ที่เคยเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรสมาชิกได้ถึง 5000-10,000 บาท/ตัว /5 เดือน จากจำนวนโคขุนที่กำหนดให้เกษตรกรเลี้ยงรายละ 7 ตัว ปัจจุบันเกษตรกรมีจำนวนวัวเฉลี่ยรายละ 25 ตัว มากไปจนถึง 130 ตัว และได้กลายเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรกลุ่มนี้ไปแล้ว นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการปลูกอินทผลัม และผลักดันตลาดออนไลน์ "บ้านซ่องพลาซ่า" เพื่อเป็นช่องทางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเพิ่มช่องทางในการทำการตลาดสินค้าของสมาชิกที่มีหลากหลาย ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอล
นางกัญญา กล่าวว่า จากการอบรม ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทัศนคติของสมาชิกที่มีต่อสหกรณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากที่ไม่ค่อยสนใจการดำเนินงานของสหกรณ์ แต่วันนี้สมาชิกกลับมาให้ความสำคัญ และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของสหกรณ์ค่อนข้างมาก ส่งผลให้สหกรณ์เติบโตขึ้นเป็นลำดับ จากในปี 2543 มีสมาชิกเพียง 500 คน ทรัพย์สิน 11 ล้านบาท มีเงินฝากแค่หลักแสนบาท ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกถึง 4,416 คน มีทรัพย์สิน 427 ล้านบาท และเงินฝากถึง 253 ล้านบาท จนถึงวันนี้ เชื่อว่าสมาชิกส่วนใหญ่เห็นความสำคัญกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านซ่องเป็นอันดับแรก ๆ มิใช่สถาบันการเงินชุมชนอันดับท้าย ๆ เช่นในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้ เกิดจากความร่วมมือร่วมแรงของสมาชิกและบุคลากรทุกฝ่ายที่มีความรัก ความเข้าใจในองค์กร และเข้าถึงอุดมการณ์ของสหกรณ์อย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น