วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ซีพีเอฟ ไม่ปลดล๊อกมาตรการเฝ้าระวังโรค ASF ในสุกร และ โควิด-19 ในพนักงาน สู่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์วิถีใหม่


เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยืนยันไม่ยกเลิกมาตรการคุมเข้มป้องกันโรคระบาด ASF ในสุกร และโควิด-19 ในพนักงานของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แม้สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศเริ่มผ่อนคลาย พร้อมอบรมพนักงงานรองรับการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์วิถีใหม่ ที่สามารถป้องกันโรคในสุกรและโรคในพนักงานเลี้ยงสุกรไปพร้อมกัน สร้างหลักประกันความปลอดภัยทางอาหารให้กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน

น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในภาวะปกติบริษัทฯ มีมาตรการเฝ้าระวังโรคในสัตว์และมาตรการสุขอนามัยของบุคลากรที่เคร่งครัดทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำตามมาตรฐานสากล และในช่วงที่มีโรคระบาดบริษัทฯ ยังได้ประกาศมาตรการเสริมและแนวทางปฏิบัติที่เข้มงวดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันสัตว์ทั้งโรคระบาด ASF ในสุกร และโควิด-19  โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่มีรายงานการติดโรค ASF ในสุกร ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มผ่อนคลายและไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมากกว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม  แต่บริษัทฯ ยังคงใช้มาตรการป้องกันสูงสุดอย่างเคร่งครัด

สำหรับมาตรการเสริมเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับพนักงานเลี้ยงสุกรในฟาร์มที่ ซีพีเอฟ ปฎิบัติอย่างเคร่งครัดในสถานประกอบการและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ คือ 1.การคัดกรอง เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานทุกคน ทุกวันก่อนเข้าปฏิบัติงาน หากมีอาการไอ มีน้ำมูก หายใจลำบากและเจ็บคอ ให้หยุดงานแม้ไม่มีไข้ 2.การเว้นระยะทางสังคม (Social Distancing) เช่น การเว้นระยะห่าง 2 เมตร งดการเยี่ยมชมฟาร์ม ลดความหนาแน่นโดยการเหลื่อมเวลาทำงาน งดเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง และการทำงานที่บ้าน (Work From Home) 3.สุขอนามัยส่วนบุคคล การสวมหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกัน หมั่นล้างมือ 4.การขนส่งปลอดภัย มีการตรวจอุณหภูมิร่างกายก่อนปฏิบัติงาน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือก่อนและหลังการจัดส่ง และจัดส่งแบบไม่สัมผัส เป็นต้น

ปัจจุบัน ซีพีเอฟ ยังมีมาตรการเข้มงวดในการป้องกันโรคระบาด ASF ในสุกร สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัทฯ และเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ของบริษัท ด้วยการห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม ต้องรู้แหล่งที่มาของสุกร งดให้อาหารสุกรด้วยเศษอาหารจากคน เตรียมแผนฉุกเฉินกรณีกรณีเกิดการระบาด ตามมาตรฐานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) เข้มงวดสุขอนามัยส่วนบุคคลทั้งก่อนและหลังเข้าฟาร์ม ตลอดจนพาหนะ เป็นต้น


“จากมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคระบาดสูงสุดทั้งโรคในสุกรและพนักงาน ที่ ซีพีเอฟ ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้การป้องกันโรคของบริษัทฯ มีประสิทธิภาพสูงและไม่มีรายงานสัตว์ติดโรคทั้ง ASF ในสุกรและโควิด-19 ในพนักงานฟาร์ม รวมทั้งไม่เกิดโรคอื่นๆ ช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจได้ดี และก่อให้เกิดวิถีใหม่ (new normal) ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม” น.สพ.ดำเนิน กล่าว

น.สพ.ดำเนิน กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้การปฏิบัติตามแนวทางการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย และการหมั่นล้างมือ และสุขอนามัยส่วนบุคคลอื่นๆ กลายเป็น “วิถีใหม่” ในชีวิตประจำวันของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในฟาร์มของบริษัทฯ และมีการปรับกิจกรรมการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี เช่น การประชุมความพร้อมก่อนเริ่มงานในตอนเช้า มีการประชุมกันที่สนามหรือสถานที่โล่งแจ้งแทนห้องประชุมหรือภายในอาคารสำนักงาน การรับประทานอาหารโดยใช้ภาชนะส่วนตัวในที่ที่มีฉากป้องกัน รับประทานเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น การรักษาระยะห่าง 2 เมตรทุกกิจกรรมที่ทำ และการทำความสะอาดจุดสุมผัสร่วม เป็นต้น


“ซีพีเอฟ มีการดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานสากล และมีการประยุกต์ใช้มาตรการต่างๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงการอบรมบุคลากรให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานตลอดเวลา เพื่อสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต” น.สพ.ดำเนิน กล่าวย้ำ

ซีพีเอฟ ยังได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกร ในพื้นที่เสี่ยงของประเทศไทย โดยมีเกษตรกรรายย่อยที่ผ่านการอบรมแล้ว 450 ราย ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างเกราะป้องกันประเทศไทยจากโรคระบาดสัตว์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น