วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

กรมการข้าว แนะเกษตรกรตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าข้าว ในข้าวพันธุ์ กข 43 ปลูกง่าย ราคาดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภค


          ข้าวกข 43 เป็นข้าวเพื่อสุขภาพ มีการวิเคราะห์ทางกรมการข้าว ร่วมกับทางมหาลัยมหิดล มีการตรวจสอบวิเคราะห์ค่าดัชนีน้ำตาลในข้าว ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ นั่นหมายความว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งข้าว กข 43 จะมีลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์นี้ มีอายุสั้น เหมาะกับเขตภาคกลาง อายุของข้าวกข 43 ประมาณ 95 วันและได้จะผลผลิตประมาณ 500 กิโลกรัมต่อไร่


          การผลิตข้าวเพื่อสุขภาพ กข 43 ให้มีคุณภาพ ต้องมีการควบคุมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกจนกระทั่งแปรรูป กรมการข้าวจึงรับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ เพื่อผลิตข้าวตามมาตรฐาน GAP และสีแปรเป็นข้าวสารโดยโรงสีข้าวที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP เท่านั้น

          กรมการข้าว ได้ดำเนินงานการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าข้าวในข้าว พันธุ์ ก ข43 มาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีการรับสมัครสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ สามารถผลิตข้าวตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP และมีโรงสีมาตรฐาน GMP หรือโรงสีที่พร้อมเข้าสู่ระบบตรวจรับรอง GMP   มีตลาดรองรับ  มีการเชื่อมโยงตลาดรับซื้อ มีแหล่งรวบรวมผลผลิต (สหกรณ์ หรือผู้ประกอบการ)

          นางสาวสุรัชนา  พิชญานนท์  นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์  กล่าวว่า กรมการข้าว โดยกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การตรวจประเมินและให้การรับรองด้านมาตรฐานข้าวกับเกษตรกรและผู้ประกอบการ ได้แก่ มาตรฐานข้าวคุณภาพ หรือข้าวปลอดภัย หรือข้าว GAP มาตรฐานโรงสีข้าว GMP และมาตรฐานข้าวสาร Q คือเป็นQ Product เพราะฉะนั้นในระบบการตรวจสอบและรับรองของกรมการข้าวจะให้การรับรองตั้งแต่กระบวนการระดับแปลงที่เป็นไปตามระบบมาตรฐานไปสู่กระบวนการที่ได้ข้าวคุณภาพ (ข้าวเปลือก) นำเข้าสู่โรงสีข้าวที่ได้มาตรฐาน GMP และสุดท้ายกรมการข้าวจะเข้าไปให้การรับรองข้าวสาร เพื่อบรรจุถุงและติดเครื่องหมาย Q ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าสินค้าข้าวในถุงนั้นได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานได้รับรองมาตรฐานจากกรมการข้าว ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานภายใต้ระบบมาตรฐานสากล และยังรับรองมาตรฐานข้าวพันธุ์แท้ให้ในพันธุ์ กข 43 อีกด้วย

          ปัจจุบันเกษตรกรมีการพัฒนาด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากว่าโรงสีข้าวเอกชนมีการประกันราคาข้าว กข43 อยู่ที่ 12,500 บาทต่อตัน ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3,200-3,500 บาทต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยวสั้นลง ต่างจากข้าวหอมปทุมหรือปทุมธานี 1 ซึ่งมีราคาการรับซื้ออยู่ที่ 8,000-9,000 บาท/ตัน ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3,000-4,000 บาทต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยวนานกว่าข้าว กข43

          นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการพัฒนาตลาดข้าว กข43 โดยการรวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นข้าวสารอัดสุญญากาศในรูปแบบหลากหลาย ทั้งในแบบ 1 กิโลกรัม 50 บาท 5 กิโลกรัม 200 บาท 15 กิโลกรัม 600 บาท และแบบกระสอบใหญ่ 2,000 บาท จำหน่ายในชุมชน งานจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร และผู้บริโภคที่มีการสั่งซื้อล่วงหน้า สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไม่น้อยกว่า 20,000–30,000 บาท ส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าว กข43 และมีแนวโน้มหันมาปลูกกันมากยิ่งขึ้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น