▼
วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
สทน. แนะประยุกต์ใช้หลักป้องกันอันตรายจากรังสีป้องกันโควิด-19
รศ. ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า แม้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ประกาศผ่อนคลายให้กิจการบางประเภทเปิดดำเนินการได้ในระยะที่ 2 ไปเรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับมาตรการป้องกันโควิด-19 ก็คงจะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อไป เราจะต้องไม่ประมาท และการ์ดอย่าตก สทน. จึงอยากชักชวนให้ประชาชนนำหลักในการป้องกันอันตรายจากรังสีมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันโควิด - 19 เพราะเป็นหลักการที่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ รังสีที่แผ่ออกมาจากต้นกำเนิดรังสี เราไม่สามารถมองเห็นรูปลักษณ์ของมันได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถตรวจวัดได้จากเครื่องวัดรังสี เช่นเดียวกับโคโรน่าไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ เราไม่สามารถเห็นมันได้ ซ้ำร้ายกว่านั้นเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าจุดไหนบ้างที่ไวรัสแพร่กระจายอยู่ จะว่าไปตอนนี้ไวรัสโคโรน่าซึ่งเป็นต้นตอของโควิด-19 น่าจะอันตรายกว่ารังสีแล้ว สำหรับมาตรการในการป้องกันอันตรายจากรังสีจะใช้หลักสามประการที่เรียกกันว่า ALARA (ตามหลักของ ALARA : As Low As Reasonably Achievable ) ซึ่งเป็นหลักการที่ผู้ปฏิบัติงานทางด้านรังสียึดถือปฏิบัติเพื่อป้องกันรังสี หรือลดปริมาณการได้รับรังสีจากภายนอกให้เหลือน้อยที่สุด
สำหรับหลัก 3 ประการนั้น ได้แก่
1) เวลา (Time) การปฏิบัติงานทางด้านรังสีต้องใช้เวลาน้อยที่สุด เพื่อป้องกันมิให้ร่างกายได้รับรังสีเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับบุคคล เช่นเดียวกัน เพื่อให้โอกาสได้รับเชื้อไวรัสลที่สุดหรือไม่ได้รับเลย ในกรณีที่ต้องไปอยู่ในที่ชุมชน ควรรีบปฏิบัติภารกิจอย่างรวดเร็ว ไม่ควรใช้เวลานานเกินไป
2) ระยะทาง (Distance) ความเข้มของรังสีจะเปลี่ยนแปลงลดลงไปตามระยะทางจากสารต้นกำเนิดรังสี เช่นเดียวกัน เพื่อให้โอกาสรับเชื้อไวรัสลดลง เราต้องยึดหลัก Social Distancing ในพื้นที่สาธารณะควรอยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อได้
3) เครื่องกำบัง (Shield) ความเข้มของรังสีเมื่อผ่านเครื่องกำบังจะลดลง แต่จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพลังงานของรังสี คุณสมบัติ ความหนาแน่น และความหนาของวัตถุที่ใช้ เช่นเดียวกัน การใส่หน้ากากอนามัย และ Face Shield ทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้านหรือไปปฏิบัติภารกิจในที่สาธารณะ เครื่องกำบังเหล่านี้ก็สามารถป้องกันการรับเชื้อไวรัสได้เช่นกัน
รศ. ดร. ธวัชชัย กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในการป้องกันอันตรายจากรังสี จึงเป็นแนวทางที่ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ดังนั้น หลักสามประการของ ALARA จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นหลักในการป้องกันการรับเชื้อโคโรน่าไวรัสได้เช่นเดียวกัน ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด มีสุขภาพแข็งแรงกันทุกคน แล้วเราจะผ่านวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น