วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

กระทบเกษตรกรแล้ว!! เหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครนทำวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูง วอนรัฐเร่งจัดการ

 

นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ได้พัฒนาความตึงเครียดไปจนถึงขีดสุดว่ากำลังมีผลอย่างยิ่งต่อราคาธัญพืช ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ซึ่งอาจไม่สามารถเก็บเกี่ยวหรือทำการส่งออกได้ตามปกติ รวมถึงภัยแล้งในบราซิลที่กระทบปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองด้วย


โดยราคาข้าวสาลีนำเข้าซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการเลี้ยงไก่ ราคาปรับสูงขึ้นจาก 8-9 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อปี 2564 เพิ่มเป็น 12 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน ขณะที่ข้าวโพดในประเทศไทยมีราคาปรับไปถึง 11.10 บาทต่อกิโลกรัม และกำลังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อวัตถุดิบชนิดอื่นที่มีแนวโน้มราคาสูงตามไปด้วย ปัจจุบันวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ราคาขึ้นมาสูงกว่า 50-60% แล้ว ยังไม่นับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่จะสูงขึ้นทำให้ต้นทุนค่าขนส่งปรับเพิ่มด้วย


“ต้นทุนการผลิตเนื้อไก่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาเนื้อไก่และไข่ไก่กลับถูกตรึงอยู่ ไม่สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น หากวัตถุดิบทุกชนิดมีราคาสูงเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ไม่มีทางอยู่รอดได้ ทางที่ดี ถ้ารัฐไม่สามารถควบคุมราคาวัตถุดิบจากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครน ก็ควรปล่อยให้ราคาไก่และไก่ไข่เป็นไปตามกลไกที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับราคาหมูที่ลดลงเพราะกลไกตลาดทำงานอย่างเสรี" นางฉวีวรรณกล่าว และว่าการยุติการตรึงราคาไก่และไข่ จะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเลี้ยงสัตว์ต่อไป


อนึ่ง รัสเซียและยูเครนมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันประมาณ 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก ส่วนข้าวโพด 19% ของตลาดโลก โดยราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญมีราคาเพิ่มขึ้นไปแล้ว 40% จากปี 2564

วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"เฉลิม ถาวรพานิช" นั่งนายกสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลงคนใหม่ สานต่อภารกิจพัฒนาสมาชิก ยกระดับมาตรฐานกำจัดแมลง หนุนลดใช้เคมี

 

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 สมาคมวิชาชีพกำจัดแมลง จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565  พร้อมเลือกตั้งนายกสมาคมฯคนใหม่  ที่  "เฉลิม ถาวรพานิช" ชนะโหวตนั่งนายกสมาคมฯใหม่ สานต่อภารกิจ  "ธนาวุฒิ ศิริเรือง" อดีตนายกสมาคมฯ 2 สมัย ยกระดับมาตรฐานการกำจัดแมลง หนุนลดใช้เคมีในการกำจัดแมลงและผลักดันหลักสูตรวิชาชีพกำจัดแมลงสู่รั้วมหาวิทยาลัย 

ต่อด้วยการเสวนา "แผนธุรกิจกำจัดแมลงยุคใหม่ ปี 2022" และสมาชิกร่วมดินเนอร์ท่ามกลางบรรยากาศเพลงเพราะๆ จากศิลปินรับเชิญ "เสถียร ทำมือ" ณ  โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 

นายเฉลิม ถาวรพานิช นายกสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลงคนใหม่ ได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการสมาชิกสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลง ซัพพลายเออร์ และทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้ และเนื่องในโอกาสที่ตนได้รับตำแหน่งนายกสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลง ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งและมีความยินดีที่จะมาร่วมสร้างสิ่งที่ดีให้กับสมาคมอย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาการ ด้านการบริการที่มีองค์ความรู้และทักษะสูง นำไปสู่มูลค่าการบริการที่สูงขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการและสร้างศักยภาพให้มวลสมาชิกที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนา สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวทางในการบริหารด้านอื่นๆ ตนและคณะกรรมการ จะสานต่องานที่คณะกรรมการชุดก่อนได้ริเริ่มไว้ โดยยึดแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมให้มากที่สุด ดังวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ของสมาคมฯ

 ทั้งนี้วิสัยทัศน์ (VISION) สมาคมฯคือ มุ่ง 1)พัฒนาความสามารถการบริการในอาชีพกำจัดแมลง  2)การรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ3)สร้างมาตรฐานในอาชีพสู่สากล

 ด้านพันธกิจ (MISSION) ของสมาคมฯ คือ 1)พัฒนาคุณภาพงานบริการอย่างต่อเนื่อง 2) เป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจกำจัดแมลง และ3)สนับสนุนส่งเสริมช่วยเหลือทางสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน

 สำหรับเป้าหมาย (GOAL) ของสมาคมฯ นั้น 1)เพื่อส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย ของการบริการกำจัดแมลง 2) เพื่อสนับสนุนให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้การประกอบธุรกิจกำจัดแมลง ดำเนินไปโดยเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 3) การเป็นสื่อกลางระหว่างสมาชิกเพื่อความสัมพันธ์อันดีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความชำนาญ ในการประกอบธุรกิจกำจัดแมลงเพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และทางปฏิบัติในการประกอบธุรกิจกำจัดแมลงร่วมกันและ 4) เพื่อการดำเนินงานของสมาชิกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมาคมจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ขึ้นกับลัทธิ นิกาย ศาสนาใด ๆ และไม่กระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย 

นายธนาวุฒิ ศิริเรือง  อดีตนายกสมาคมฯ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ท่านนายกสมาคมฯใหม่จะมาสานต่อ อาทิ การจัดทำหนังสือคู่มือกำจัดแมลง ที่ยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลายหน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานราชการและจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ไม่เอื้อต่อการจัดประชุม โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตรมาร่วมจัดทำ ซึ่งหนังสือคู่มือกำจัดแมลงจะทำให้คนใช้งานและคนทั่วไปอ่านเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ง่าย หลังทำเสร็จสมาคมฯจะแจกแก่สมาชิกและเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านการจำหน่ายตามร้านหนังสือต่าง ๆต่อไป 

ด้านนายสุทิยา ศิริเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ กล่าวว่า งานของสมาคมฯจะเน้นด้านการวิจัยเป็นหลักและยกระดับมาตรฐานในการกำจัดแมลง โดย มุ่งสร้างองค์ความรู้ให้กับลูกค้า ดังที่มีการจัดทำคู่มือกำจัดแมลง รวมถึงการพยายามผลักดันหลักสูตรวิชาชีพกำจัดแมลงในมหาวิทยาลัย (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี) เพื่อให้เป็นอาชีพพื้นฐานเลี้ยงตัวเองได้

 นายสุทิยา ยังกล่าวถึงภาพรวมของการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีกำจัดแมลงด้วยว่า  ในปัจจุบันมีการใช้เคมีลดลง 20-30%  ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง ธุรกิจกำจัดแมลงมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท  นอกจากนี้มีนวัตกรรมใหม่ ๆออกมาที่ลดการใช้เคมีและมีความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นนโยบายส่วนหนึ่งของสมาคมฯเช่นกัน 


หลังจากนี้นายกสมาคมฯคนใหม่จะคัดเลือกกรรมการและที่ปรึกษารวม 16 คนเพื่อปฏิบัติภารกิจในวาระ 2 ปี ปัจจุบันสมาคมฯมีสมาชิก 42 บริษัทและเชิญชวนผู้ประกอบการกำจัดแมลงมาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่ม ซึ่งมีค่าบำรุงรายปี 2500 บาทต่อปี มีค่าแรกเข้า 3,000 บาท สมัครครั้งแรกมีอายุ 2 ปี สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านกฎหมายเนื่องจากสมาคมฯอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข จะทำให้สมาชิกปรับเปลี่ยนให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย  การได้รับองค์ความรู้จากการฝึกอบรมเกี่ยวกับการกำจัดแมลง และอื่น ๆ 

ทั้งนี้ภายหลังการประชุมและเลือกนายกสมาคมฯคนใหม่ได้มีการเสวนา หัวข้อ "แผนธุรกิจกำจัดแมลงยุคใหม่ ปี 2022"  PEST CONTROL NEW MODEL BUSINESS 2020 ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.ดร.กฤษณ์ รักชาติเจริญ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิด ,ผศ.ดร.พัชรา ศรีวิชัย หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลและอาจารย์ยุทธนา สามัง นักปฏิบัติการวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ภาควิชาการกีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย ดร.ชัยวัฒน์ จันทร์พิทักษ์ จากนั้นเหล่าสมาชิกร่วมดินเนอร์ท่ามกลางบรรยากาศเพลงเพราะๆ จากศิลปินรับเชิญ "เสถียร ทำมือ" 





สำหรับผู้ประกอบการสนใจสมัครสมาชิกสมาคมฯสามารถสมัครได้ที่ 

สมาคมวิชาชีพกำจัดแมลง Thai Professional Pest Management Association 

เลขที่ 212  ถ.เจริญพัฒนา แขวงบางขัน เขตคลองสามวา  กรุงเทพฯ  10510  

หรือเข้าไปที่เวบไซต์สมาคมฯ www.thaipropma.com  

เพื่อสแกนบาร์โค้ดรับเอกสารการสมัคร หรือติดต่อโดยตรงที่ Tel : 02-540-6781-2

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

มก.กพส. มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ให้กับเกษตรกรผู้ประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา

 


           วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้จัดพิธีมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ให้กับเกษตรกรผู้ประสบปัญหาอุทกภัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม ในนามตัวแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ฯ และมี รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวรายงานวัถตุประสงค์ของพิธีมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวในวันนี้ โดยมีที่มาจากโครงการปลูกข้าววันแม่ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564  เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 89 พรรษา 12 สิงหาคม 2564 ได้ใช้พันธุ์ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ในการเพาะปลูก บนพื้นที่ 13.5 ไร่ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และได้ดำเนินการเก็บเกี่ยว ในงานเกี่ยวข้าววันพ่อ ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ผลผลิตเป็นเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ จำนวน 7,280 กิโลกรัม ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นับเป็นความภาคภูมิใจของทีมนักวิจัยที่เป็นผู้คิดค้นและปรับปรุงสายพันธุ์รวมถึงเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์





          ซี่งผลผลิตที่ได้มหาวิทยาลัยได้นำมาแจกจ่ายให้กับบุคลากรแล้ว ยังนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ส่วนหนึ่งมอบให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ประกอบกับในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาพื้นที่ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ในหลายจังหวัด ประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้นาข้าวเสียหาย เกษตรกรขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะปลูกในปีต่อไป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิททยาเขตกำแพงแสน ซึ่งได้มีการทำงานเชิงบูรณาการเรื่องข้าว ร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโภชนาการสูงทั่วประเทศ เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดี ให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยอยู่แล้ว  จึงได้ทำการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรเพื่อมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านเนินสบาย จังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มรักษ์ Organic จังหวัดอุทัยธานี กลุ่มคุรุอินทรีย์ จังหวัดกำแพงเพชร ศูนย์การเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวง จังหวัดชัยนาท และ นายประทีป สวัสรังศรี จังหวัดกำแพงเพชร รวมจำนวนทั้งสิ้น 27 ราย ณ โรงสีข้าวธัญโอสถ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน