วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565

เปิดเทคนิคป้องโรคหมู เตรียมความพร้อมเกษตรกร...หลังเว้นวรรค


การรับมือสถานการณ์ ASF ในเรื่องของการป้องกันโรค นับเป็นประเด็นสำคัญที่เกษตรกรควรเรียนรู้และเตรียมความพร้อม เมื่อเร็วๆนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดงานสัมมนาสัญจรขึ้น ณ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.สุรินทร์ ภายใต้หัวข้อ “หลังเว้นวรรค...จะกลับมาอย่างไรให้ปลอดภัย?” เพื่อปูพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อยพร้อมกลับเข้ามาในระบบและทำการเลี้ยงหมูอีกครั้ง เป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายสถานการณ์หมูหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก ด้วยสาเหตุของโรคระบาดที่เกิดขึ้น


นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่างานดังกล่าวได้รับความร่วมมือด้วยดีจากบริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัทปลอดภัยจากโรคระบาดได้สำเร็จ และยังคงเลี้ยงหมูป้อนตลาดได้จนถึงปัจจุบัน ส่งผู้แทนนักวิชาการของบริษัทร่วมถ่ายทอดเทคนิคความรู้ดังกล่าว ร่วมกับ ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน


ทั้งนี้ มาตรการป้องกันโรคดังกล่าว ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การพิจารณาข้อมูลระดับจังหวัด โดยทำการโซนนิ่งพื้นที่เสี่ยงแล้วแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.) พื้นที่เสี่ยงสูง หรือ เขตโรคระบาด 2.) พื้นที่เฝ้าระวัง หรือติดกับเขตโรคระบาด และพื้นที่เสี่ยงต่ำ หรือพื้นที่นอกเขตเฝ้าระวัง จากนั้นเจาะลึกลงไปในพื้นที่เสี่ยงสูง หรือ เขตโรคระบาด แล้วแบ่งออกเป็น 3 ส่วนอีกครั้ง ดังนี้ ส่วนพื้นที่วิกฤต ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด และส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด วัดตามระยะห่างจากจุดเกิดโรค 1 กม., 5 กม., และมากกว่า 5 กม. ตามลำดับ


ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือระยะห่างจากฟาร์มอื่นที่เกิดโรคในรัศมี 1-5 กิโลเมตร ต้องทำการแยกวิธีป้องกันโดย แบ่งโซน แยกคน  แยกรถ งดกิจกรรม และตรวจติดตาม ควบคู่การลงรายละเอียดถึง 15 ข้อ อาทิ แยกเขตที่พักอาศัยกับเขตเลี้ยงสัตว์ให้ชัดเจน อาบน้ำเปลี่ยนชุดก่อนเข้าเขตเลี้ยงสัตว์ เปลี่ยนรองเท้าบู๊ท-จุ่มฆ่าเชื้อ แยกรองเท้าใส่ภายนอก เจ้าของฟาร์มต้องซื้ออาหารจากแหล่งปลอดโรคที่มีมาตรฐาน ห้ามรถภายนอกเข้าฟาร์ม  ให้รถส่งอาหารสัตว์มาเพียงเดือนละ 1 ครั้ง และพักอาหาร 24 ชม. พ่นยาฆ่าเชื้อรถทุกคันก่อนเข้าฟาร์ม ป้องกันสัตว์พาหะทุกชนิด ใช้น้ำบาดาลในการเลี้ยงสุกร พ่นยาฆ่าเชื้อรอบประตูโรงเรือน โรยปูนขาวบนถนนและพื้น บ่อทิ้งซากใช้งานได้จริง ไม่นำซากสุกรออกนอกฟาร์ม ติดตั้ง CCTV หน้าฟาร์ม หน้าห้องอาบน้ำและในโรงเรือน เป็นต้น โดยทั้งเจ้าของฟาร์มและคนงานต้องใส่ใจปฏิบัติอย่างเคร่งคร้ด ห้ามมิให้หละหลวมตกหล่นแม้แต่ข้อเดียว


อนึ่ง มาตรฐานฟาร์มสุกรในระบบไบโอซีเคียวริตี เป็นทางเดียวที่จะป้องกัน ASF ได้ เนื่องจากยังไม่มียาหรือวัคซีนสำหรับโรคนี้  และถือว่าเป็นพื้นฐานของระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งประกอบด้วย การเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด ป้องกันสัตว์พาหะทั้งหนู นก แมลงต่างๆ โดยวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาใช้ภายในฟาร์มไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ หรืออื่นๆ จะมีการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งที่มา ซึ่งทุกฟาร์มจะรับจากแหล่งที่ปลอดภัยเท่านั้น ทั้งยังต้องควบคุมรถขนส่งเข้า-ออกฟาร์มอย่างเข้มงวด รถทุกคัน-พนักงานทุกคนต้องผ่านระบบฆ่าเชื้อ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนหรือพาหนะนั้นๆ จะไม่เป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงการกำหนดจุดส่งมอบสุกรที่แยกจากฟาร์ม ทั้งหมดนี้ทำให้ยืนยันได้ในความปลอดภัยของกระบวนการผลิตสุกรเพื่อส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2565

ชป.ขานรับ กอนช. คุมเข้มแผนใช้น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ย้ำน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดแล้งนี้

 

กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง เน้นย้ำน้ำกินน้ำใช้อุปโภคบริโภคเพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้ พร้อมวอนทุกภาคส่วนร่วมใจกันประหยัดน้ำ ตามนโยบายของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งพื้นที่ภาคกลาง ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดฤดูแล้ง พร้อมกำหนดแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงและแผนเผชิญ เหตุรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้า รวมทั้งเร่งรัดโครงการสำคัญต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ นั้น

สถานการณ์น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(18 ม.ค. 65) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,457 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 6,761 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,225 ล้าน ลบ.ม. จึงได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน ที่สำคัญให้จัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุไว้รองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้าด้วยแล้ว

ในส่วนของการทำนาปรัง ปัจจุบันมีการทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปแล้วประมาณ 3.25 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ร้อยละ 16 (แผนวางไว้ 2.81 ล้านไร่) เกษตรกรส่วนหนึ่งจะใช้น้ำจากบ่อน้ำหรือแหล่งน้ำของตนเองในการทำนาปรัง ส่วนที่ใช้น้ำจากระบบชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามและควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า  

ชป.ชวนแกล้งข้าว ทำนา“เปียกสลับแห้ง”ช่วยประหยัดน้ำ เพิ่มผลผลิต ทางรอดภัยแล้ง

 

โครงการชลประทานเชียงใหม่ ต่อยอดงานวิจัยการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว ชวนชาวนาเปลี่ยนวิธีการทำนา หวังลดต้นทุนการผลิต และช่วยประหยัดน้ำจากการทำนาได้มากกว่าร้อยละ 30 - 40 ทั้งยังเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2565 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีอยู่ในเกณฑ์จำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำเป็นต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรที่มีสัดส่วนการใช้น้ำค่อนข้างมาก เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯไม่ถึงร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงปลายปี 2564 - ต้นปี 2565 อาจจะเกิดภัยแล้งได้ในบางพื้นที่ กรมชลประทาน ได้รณรงค์ให้พี่น้องเกษตรกรและทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า 

จากสถานการณ์น้ำข้างต้น โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ต่อยอดงานวิจัยการบริหารจัดการน้ำในการทำนา แบบเปียกสลับแห้ง โดยสมาชิกกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน ได้ร่วมกันทำแปลงสาธิตทดลองการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ในพื้นที่หัวงานอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำเพาะปลูกข้าวโดยวิธีประหยัดน้ำในช่วงวิกฤติ เนื่องด้วยอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน มีปริมาณน้ำเก็บกักในเกณฑ์น้ำน้อย จึงรณรงค์ให้มีการทำนาปลูกข้าวแบบประหยัดน้ำ แต่ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นกว่าการปล่อยน้ำท่วมขังในแปลงนา ด้วยวิธีการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว โดยจะเรียกว่า“ทฤษฎี เปียก 5 แห้ง 15” 

โดยสรุปผลการทำนาแบบเปียกสลับแห้งในพื้นที่ของโครงการชลประทานเชียงใหม่ 

💧ใช้ปริมาณน้ำเพียง 480 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ จากปกติใช้น้ำฤดูแล้งประมาณ 800 ลบ.ม./ไร่ และฤดูฝน 1,200 ลบ.ม./ไร่ 

🌾 สามารถทำผลผลิตได้ถึง 770  กก./ไร่ เพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 170 กก./ไร่ 

ถือเป็นการทดลองที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก และสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ นำไปขยายผลได้อีกด้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นได้พอสมควร 


ด้านนายดำรง เล็กดี รองประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน กล่าวว่า “ผลผลิตที่ได้เกินคาดเป็นที่น่าพอใจและก็รู้สึกประหลาดใจ ตนเองจะได้เอาวิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งนี้สร้างการรับรู้และนำไปต่อยอดให้เกษตรกรสมาชิกผู้ใช้น้ำทดลองทำในแปลงนาตนเอง เพื่อเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังได้ประหยัดน้ำต้นทุน มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดฤดูกาลต่อไป” 


สำหรับการขยายผลโครงการฯ ในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 นี้ โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้มีการเผยแพร่และส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ไปยังพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำแม่โก๋นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5000 ไร่ ทั้งนี้ หากเกษตรกรในพื้นที่ใด สนใจเรื่องการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทาน โครงการชลประทานใกล้บ้านได้ในวันเวลาราชการ

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2565

“กรมชล” เดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรี-สร้างความมั่นคงด้านน้ำ จ.น่าน

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดน่าน เป็นโครงการที่กรมชลประทานได้สนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2560 ให้กรมชลประทานและสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมกันพิจารณาจัดหาน้ำให้แก่โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน

โดยให้พิจารณาการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำรี เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จแล้ว พร้อมกับเร่งปรับปรุงข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) เพื่อนำเสนอรายงานชี้แจงเพิ่มเติมและเข้าสู่วาระการพิจารณาในวันที่ 14 มกราคม 2565 นี้ ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการฯ ตามลำดับในระยะต่อไป


สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน มีลักษณะเป็นเขื่อนหินถม สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 46 ล้านลูกบาศก์เมตร หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอทุ่งช้าง และอำเภอเชียงกลาง ได้มากกว่า 22,100 ไร่ ทั้งยังเป็นแหล่งขยายและเพาะพันธุ์ปลาแห่งใหม่ เสริมสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

กรมชลประทาน ร่วมมือกับญี่ปุ่น ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักฯ

 


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoC) ระหว่างกรมชลประทานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ด้วยระบบเรดาร์ Solid-State Polarimetric X-band ซึ่งมีนายโนซากิ มาซาโตชิ อธิบดีกรมวิทยุ สำนักงานสื่อสารโทรคมนาคม กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ลงนามฝ่ายญี่ปุ่น โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา นายโฮโซโนะ เคสุเกะ เลขานุการเอกด้านดิจิทัล สารสนเทศ เทคโนโลยีการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การลงนาม MoC ในวันนี้ เป็นการริเริ่มความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมมือกันกำหนดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี-สระบุรี ด้วยระบบเรดาร์ Solid-State Polarimetric X-band ด้วยการปรับปรุงการบริหารจัดการอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อาทิ การหาความสัมพันธ์ของน้ำฝน-น้ำท่า การประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำฯ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและทันต่อสถานการณ์ ตอบสนองต่อภารกิจของกรมชลประทาน รวมทั้งสนับสนุนให้กรมชลประทานนำระบบดังกล่าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการป้องกันภัยพิบัติของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

สำหรับระบบเรดาร์ X-Band จะมีการส่งข้อมูลเป็นระบบ Real time มีความละเอียดสูงในการประเมินปริมาณฝน ส่งสัญญาณด้วยระบบ Dual polarization ส่งคลื่นออกไปได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน สามารถเพิ่มศักยภาพในการวัดปริมาณฝนได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ใช้ประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทันต่อเหตุการณ์ ปัจจุบัน สถานีตรวจวัดอากาศดังกล่าวได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 80% โดยรอการติดตั้งเรดาร์ตรวจอากาศซึ่งนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานภายในฤดูฝนปี 2565 นี้



ชป.ส่งเครื่องสูบน้ำช่วยเกษตรกรชาวผักไห่-เจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา

กรมชลประทาน ส่งเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ของโครงการชลประทานผักไห่และโครงการฯเจ้าเจ็ด-บางยี่หน หลังปริมาณน้ำในพื้นที่เริ่มแห้งไม่เพียงพอทำการเกษตร ตามนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาบางแห่งเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ในเขตตำบลรางจระเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำที่เคยเก็บไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำแห้งขอด ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เริ่มประสบปัญหาน้ำไม่พอทำการเกษตรฤดูแล้ง จึงได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล และฝ่ายปฏิบัติการสูบน้ำ ส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 12 นำเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด 4 เครื่อง เพื่อสูบน้ำย้อนจากแม่น้ำน้อยเข้าคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน  ก่อนส่งเข้าระบบชลประทาน และกระจายน้ำให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักกลติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีกที่บริเวณประตูน้ำผักไห่ คาดว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในทุ่งผักไห่ได้เป็นอย่างมาก

สำหรับปริมาณน้ำที่สูบส่งให้เกษตรกร เป็นปริมาณน้ำที่ได้รับจัดสรรตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2564/65 เพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปรังตามแผนที่ได้วางไว้ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำนาตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นสำคัญ

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565

“เฉลิมชัย” สั่งรับมือผลไม้ฤดูการผลิตปี 2565 ล่วงหน้า มอบ “อลงกรณ์” ลุยเหนือติดตามความคืบหน้าตรวจด่านเชียงแสน-เชียงของ ขยายโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดมาตรการที่เข้มงวดโดยเฉพาะด่านนำเข้าจีน และส่งผลต่อการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรผลไม้ของไทย ล่าสุดนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board)ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรของไทย

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ตนเองในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ลงพื้นที่ภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ระหว่างวันที่ 11-15 ม.ค. 65 เพื่อติดตามความคืบหน้าในหลายด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการผลไม้ของภาคเหนือ ฤดูการผลิตปี 2565 (ลำไย) ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ภาคเหนือ การขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center :AIC) จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย พร้อมตรวจเยี่ยมด่านเชียงของและด่านเชียงแสนในการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรทางบกและทางเรือลำน้ำโขง โดยเฉพาะมาตรการ SPS และโควิดฟรี (Covid Free) และแนวทางแก้ไขปัญหาการขนส่งผ่านด่านบ่อเตนและด่านโมฮ่าน ตลอดจนการประชุมหารือกับวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนากาแฟอาราบิก้า (Arabica) ตลอดห่วงโซอุปทาน การบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทานภาคเหนือตอนบนและการขับเคลื่อนโครงการโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนภาคเหนือเพื่อพัฒนาการเกษตรในเมืองและส่งเสริมเพิ่มพื่นที่สีเขียวเพื่อแก้ปัญหา pm.2.5 และลดก๊าซเรือนกระจกตอบโจทย์ Climate Change ตามแนวทาง COP26.

  สำหรับข้อมูลการส่งออกนำเข้าผักผลไม้โดยรวมระหว่างไทยกับจีน ปรากฎว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าจีนกว่า 3 เท่าตัว โดยในปี 2563  ไทยส่งออกผลไม้ไปจีน 1.02 แสนล้านบาท  ไทยนำเข้าผลไม้จากจีน 30,735 ล้านบาท ไทยได้เปรียบจีน 7.2 หมื่นล้าน ครองตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วนตลาด (Market Share) เป็นอันดับ 1 สูงถึง 45% ขณะที่เพียง 10 เดือนของปี 2564 (เดือน ม.ค-ต.ค2564) ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.48 แสนล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การนำเข้าส่งออกผักในปี 2563 จีนส่งออกออกผักมาไทย 8 พันล้าน ไทยส่งออกผักสดผักแข็งผักแห้งและมัน หัวมัน 30,000 ล้าน  (รหัส07) แต่ถ้าแยกผักออกมาไทยส่งออกผักไปจีน 1 พันล้านบาท เสียดุลการค้าจีนด้านผัก 7 พันล้านในขณะที่ไทยได้เปรียบการส่งออกผลไม้ไปจีนกว่า 7 หมื่นล้าน

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565

ชป. คุมเข้มแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 64/65 พร้อมจัดสรรน้ำให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

 


 กรมชลประทาน ขานรับ กอนช.ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พร้อมจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(7 ม.ค. 65) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 57,117 ล้าน ลบ.ม. (75% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 33,187 ล้าน ลบ.ม. (64% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 13,858 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,162 ล้าน ลบ.ม. (39% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง(1 พ.ย. 64 – 30 เม.ย. 65) ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 7,762 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 14,518 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,864 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 3,836 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ได้วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ พร้อมจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรม โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง เป็นอันดับแรก และน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ ตามลำดับ ส่วนหนึ่งจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 ด้านการเกษตรกรรมได้จัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม 


สำหรับการดำเนินการตามมาตรการที่ 5 (วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง) ตามข้อสั่งการพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ นั้น ปัจจุบันกรมชลประทานได้วางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 6.41 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการเพาะปลูก ข้าวนาปรัง 2.81 ล้านไร่  จนถึงขณะนี้(7 ม.ค. 65)  มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศไปแล้ว4.05 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.16 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้ว 2.80 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 99.68 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้กับเกษตรกรได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด 

ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(7 ม.ค. 65 เวลา 06.00น) ที่สถานีประปาสำแล  วัดค่าความเค็มได้ 0.25 อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง  (มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ยังไม่กระทบต่อสถานีสูบน้ำดิบสำแล ของการประปานครหลวง ด้านแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน  และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังควบคุมคุณภาพน้ำ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง (6 -10 ม.ค. 65) 

 

กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำ ด้วยความประณีตและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ อย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม

ชป.ชูนวัตกรรมเรือเก็บตัวอย่างตะกอนและคุณภาพน้ำลำแรกของไทย เสริมประสิทธิภาพภารกิจงานชลประทาน

 


กรมชลประทาน คิดค้นนวัตกรรมเรือ “อุทกชลประทาน 1” เรือเก็บตัวอย่างตะกอนดินและคุณภาพน้ำลำแรกของไทย ปลอดภัย ทุ่นแรง ลดเวลาการทำงานให้รวดเร็วขึ้น นำร่องทดลองเก็บตัวอย่างตะกอนและคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี แห่งแรก


นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำบางพระ ถือเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญที่สุดในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ความจุเก็บกัก 117 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร การท่องเที่ยว และการอุตสาหกรรม ประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี


แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระ ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างฯ เฉลี่ยเหลือประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี สวนทางกับการคาดการณ์ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ที่ความต้องการใช้น้ำในอ่างฯ บางพระจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จึงจำเป็นต้องนำน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำอื่น ๆ มาเสริมน้ำต้นทุนในอ่างฯ บางพระ โดยการสูบผันน้ำส่วนเกินจากแหล่งอื่นในช่วงฤดูฝน ได้แก่ ระบบสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต จังหวัดสมุทรปราการ และระบบสูบผันน้ำจากแม่น้ำบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมติดตามและควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นประจำ แต่ในส่วนของอ่างฯ บางพระจะพิเศษกว่าแหล่งน้ำอื่น ๆ 


ที่มีระบบโทรมาตรตรวจวัดคุณภาพน้ำ ที่สามารถตรวจวัดได้แบบ Real Time ทั้งบริเวณอ่างเก็บน้ำและปลายท่อสูบผันน้ำที่สูบมาจากแหล่งน้ำอื่นก่อนที่น้ำจะไหลลงอ่างเก็บน้ำบางพระ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับตะกอนดินและคุณภาพน้ำ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการเชิงปริมาณและคุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำ 


โดยคิดค้นนวัตกรรมเรือเก็บตัวอย่างตะกอนและคุณภาพน้ำ “อุทกชลประทาน 1” ซึ่งเป็นเรือลำแรกของประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจาก ฝ่ายตะกอนและคุณภาพน้ำ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS : United States Geological Survey) ด้านการจัดการตะกอนในอ่างเก็บน้ำ และ The Australian Partnership (AWP) 



ด้านการจัดการคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อพัฒนาการจัดการตะกอนและคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานในการนํามาวิเคราะห์วางแผนการระบายและขุดลอกตะกอนดิน รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพน้ำ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำที่มีค่าความขุ่นมากหรือมีอายุการใช้งานมายาวนาน จะเกิดการตกตะกอนมาก ซึ่งส่งผลให้พื้นที่เก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำลดน้อยลง อีกทั้งตะกอนยังสามารถดูดซับค่าความเค็มสะสมไว้จนน้ำมีค่าความเค็มสูงขึ้นในช่วงที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อย


ด้าน นายไวรุจน์ เอี่ยมโอภาส ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาชลประทาน ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า เรือเก็บตัวอย่างตะกอนดินและคุณภาพน้ำ "อุทกชลประทาน 1" จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเก็บตัวอย่างตะกอนดินและคุณภาพน้ําได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความปลอดภัย ทุ่นแรง และใช้เวลาดําเนินการลดลง สำหรับคุณสมบัติของเรืออุทกชลประทาน 1 ได้ดำเนินการออกแบบโดยสำนักเครื่องจักรกล ความยาวของเรือตลอดลำ 6.35 เมตร พื้นเรือกว้าง 2.50 เมตร สามารถรองรับน้ำหนักเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์การตรวจวัดคุณภาพน้ำได้มากถึง 1,200 กิโลกรัม และมีช่องเปิดบริเวณท้องเรือสำหรับหย่อนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บตะกอนอีกด้วย

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2565

กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ฟาร์มเกษตรกรเดินหน้าแก้ไขปัญราคาสุกร

 


วันที่ 5 มกราคม 2565 นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มเกษตรกร เพื่อหาแนวทาง "มาตรการเพิ่มกำลังผลิตสุกรขุนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ส่งผลเนื้อสุกรราคาสูง " ณ ลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี 


ทั้งนี้ หลังการหารือนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ภายหลังมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ผ่อนคลาย ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่าง ขณะที่ปริมาณการเลี้ยงสุกร ลดลง จากปัญปริมาณหมูในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 จากที่ผลิตได้ปีละ 20 ล้านตัวเหลือ 19 ล้านตัว โดยส่งออก 1 ล้านตัว คงเหลือบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัวจึงทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น  

สำหรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาดจะส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อไม่ให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงซึ่งมั่นใจว่า มาตรการสนับสนุนต่างๆ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคซึ่งจะขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่ให้ผลิตลูกหมูให้รายย่อยและรายเล็กไปเลี้ยง ทั้งยังมีการสนับสนุนการเลี้ยงโดยจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ในโครงการสานฝันสร้างอาชีพอีกด้วย    

ขณะที่ นายภวพรรธน์ ปฐมโพธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม (สะพานหิน) กล่าวว่า  เป็นฟาร์มขนาดกลาง มีการจัดการฟาร์มที่ดี เป็นระบบปิด มีมาตรการระบบป้องกันทางชีวภาพ มีสุกรประมาณ 2,500 แม่ จำหน่ายสุกรขุน ลูกสุกร มีโรงผสมอาหารเอง มีโรงฆ่าสุกรมาตรฐาน GMP มี Shop ขายเนื้อสุกรเองอีกด้วย