วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วช.จับมือ ม.ทักษิณ และจ.พัทลุง ร่วม MOU ถ่ายทอดเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ

 

​เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ครั้งที่ 16 ณ เวที Highlight Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ ระหว่าง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ และนายวิญญ์ สิทธิเชนทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวถึงนโยบายการนำองค์ความรู้วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ ว่า วช. ได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศและยกระดับความสามารถการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะประเด็นผู้สูงอายุที่ได้มีนโยบายเปลี่ยนเกษียณเป็นพลังเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยการสร้างโอกาสแรงจูงใจในการเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะ ศักยภาพที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีคุณค่า สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีอิสระในครอบครัว ท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในการขับเคลื่อนร่วมกันในพื้นที่ระดับจังหวัด ชุมชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาที่ผลิตองค์ความรู้นวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่สภาพแวดล้อมและชุมชนได้อย่างปลอดภัย มีความสะดวกสบาย ได้รับความช่วยเหลือจากระบบการจัดการหรือเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

​วช.ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มี่ภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว หวังว่าความร่วมมือระหว่างจ.พัทลุงและมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่จะสร้างองค์ความรู้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน โดยมีวช.ร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่อย่างแท้จริง และยังขยายผลไปยังผู้สูงอายุในจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

​ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวถึงแผนงานและแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ ว่า จากโครงการประชากรผู้สูงอายุในวันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในจ.พัทลุง ร้อยละ 20 ของประชากรอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าผู้สูงอายุในจ.พัทลุงมีกระบวนการดูแล ส่งเสริมการจัดการสุขภาพได้อย่างหลากหลาย มีมิติสร้างคุณภาพชีวิต มีคุณค่าโดดเด่นเป็นอย่างมาก ม.ทักษิณ ร่วมกับ วช.และจ.พัทลุง ในการจัดทำโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดูแลส่งเสริมการจัดการและสร้างสังคมผู้สูงอายุมีคุณภาพ รวมถึงการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการสร้างสังคมผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญคือการต้นแบบหรือโมเดลการปฏิบัติการรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชื่อมโยงไปยังจังหวัดหรือพื้นที่อื่นๆเพื่อให้ผู้สูงอายุได้เกิดการแชร์และแบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกัน เราคาดหวังว่าการลงนามครั้งนี้จะนำไปสู่การสรรค์สร้างและการสร้างสังคมในเชิงคุณภาพต่อไปในอนาคต ซึ่งม.ทักษิณได้ประกาศเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม และการสร้างสังคมในเชิงคุณภาพและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมผู้สูงอายุยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต

​ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนงค์ ภิบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดพัทลุง กล่าวถึงแผนงานและแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ ว่า เราจะมีการสร้างนักวิจัยที่เป็นนักวิชาการและเป็นนักวิจัยหรือนวัตกรที่อยู่ในชุมชน จะมีการถ่ายทอดหลักสูตรเทคโนโลยี เราได้รับทุนจากวช.ในการผลิตหลักสูตรต่างๆหลากหลายจากการมีส่วนร่วมของจังหวัดและมหาวิทยาลัยทักษิณในส่วนนี้จะมีการสร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุประกอบด้วยคน3วัย และจะมีความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติเพื่อพัฒนาให้ผู้สูงอายุได้อยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

​นายวิญญ์ สิทธิเชนทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวถึงนโยบายผู้สูงอายุกับการพัฒนาจังหวัด ว่า ขอขอบคุณวช. ม.ทักษิณ ที่ได้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อนำร่องนวัตกรรมผู้สูงอายุในจังหวัดภาคใต้ในครั้งนี้  กระบวนการทำงานในจังหวัดกับม.ทักษิณมีมายาวนานพอสมควร และวช.เข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อให้เกิดศักยภาพการทำงานผู้สูงอายุในจ.พัทลุงซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องและขยายไปพื้นที่อื่นๆในภาคใต้และใกล้เคียงต่อไป การบันทึกข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายในวันนี้ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาวิจัยนวัตกรรมสังคม การบริการวิชาการ ซึ่งเป็นการบูรณาการ ระหว่างหน่วยงานจังหวัด อำเภอ และที่สำคัญคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะสอดประสานพลังประชารัฐในพื้นที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งจ.พัทลุงมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมากทั้งในเรื่องสุขภาพ การศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่นและในเรื่องกรอบความคิดกระบวนการประชาธิปไตยในสังคม สร้างความเชื่อมั่นให้วช.ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถนำไปต่อยอดในพื้นที่อื่นๆต่อไป

​อนึ่งจังหวัดพัทลุงเป็นเมืองแห่งความยั่งยืนในบริบทเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่นาเป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ป่า เขา ทะเลสาบ ทรัพยากรเหล่านี้จะเป็นตัวเสริมที่ทำการศึกษาวิจัยสร้างนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ และยังมีนโยบายเรื่องสุขภาวะในจังหวัดพัทลุงก่อนแล้ว มีการพัฒนาระบบผู้สูงอายุตามคุณภาพสากล และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายอื่นๆทั้งในและนอกพื้นที่ ในการสร้างนวัตกรรมดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้นแบบในการนำเอาสิ่งที่เราค้นพบศึกษาการวิจัย จากการถอดบทเรียนต่างๆนำไปใช้ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และจังหวัดพัทลุงยังอยู่ในกลุ่ม 10 จังหวัดแรก เป็นจังหวัดที่มีมวลรวมความสุขของประชากรผู้สูงอายุในจังหวัดต้นๆของประเทศอีกด้วย

วช.ชวนสัมผัส “น้ำหอมจากขนแพะ” ในงาน Thailand Research Expo 2021 นวัตกรรมแปลงขยะขนแพะสู่น้ำหอม เครื่องหอม เจ้าแรกในไทยและเอเชีย ฝีมือนักวิจัย วว.



​วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม”Research Expo Talk” เปิดตัวนวัตกรรม “น้ำหอมจากขนแพะ” นวัตกรรมแปลงขยะขนแพะสู่น้ำหอม เครื่องหอม เจ้าแรกในไทยและเอเชีย ผลงานของนางสาวขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัย จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ณ เวที Mini Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

นางสาวขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ไปจังหวัดกระบี่เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เพื่อนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาชุมชน ได้โจทย์ขนแพะที่เป็นขยะเหลือทิ้งและจากการบอกเล่าของ นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานกรรมการบริษัท ศรีผ่องพานิช จำกัด ขนแพะโดยปกติถูกกำจัดโดยวิธีเผาทิ้งอย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าคือวัตถุดิบที่มีมูลค่ามหาศาล

​ทีมนักวิจัยนำขนแพะมาสกัดพบว่า ได้สารสกัดมีกลิ่นหอมที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นน้ำหอมได้ รวมถึงพัฒนาเป็นอย่างอื่นได้ เนื่องจากมีคุณค่ามีคุณสมบัติสูง มีกรดไขมัน (Fatty acid)สูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxident) เมื่อนำมาทำน้ำหอมแล้ว นอกจากได้เป็นกลิ่นน้ำหอมแล้ว ยังนำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมและเครื่องสำอาง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทางด้านเครื่องสำอางและน้ำหอม หากนำมาใช้มากจะทำให้เกิดความต้องการจากท้องถิ่นและทำให้ขนแพะมีมูลค่าสามารถขายได้ ” แม้ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งราคา แต่ในการวิจัยที่ผ่านมาซื้อขนแพะจากจังหวัดกระบี่มาที่ราคา 1,000 บาท ต้องใช้ขนแพะปริมาณ 100 กรัมได้ สารสกัด 0.5 มิลลิกรัม ทำน้ำหอมได้ 3 ขวด ราคาประมาณ 3,000 บาท” ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริม BCG (BCG Economy) ในการเป็น Circular Economy สามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์สูงมีคุณค่า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย นอกจากนี้ยังจะช่วยส่งเสริมนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเพื่อการแข่งขันกับนานาชาติด้วย และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น Green Economy ใน BCG

นางสาวขนิษฐา กล่าวต่อว่า ขณะนี้การวิจัยมีความคืบหน้าถึงการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ มีสารสกัดที่มีการทดสอบฤทธิ์ มีความพร้อมสูงที่จะนำไปเป็นส่วนประกอบของน้ำหอม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความหอม หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ปล่อยกลิ่นหอมระเหยและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ดีสู่ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศอีก โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้.ถือว่า เป็นเจ้าแรกของประเทศและเป็นเจ้าแรกของเอเชียอีกด้วย โดยขณะนี้ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมประมาณ 9 กลิ่น เป็นกลิ่นสำหรับผู้หญิง 7 กลิ่น และกลิ่นสำหรับผู้ชาย 2 กลิ่น ซึ่งเป็นกลิ่นที่มีการพัฒนาแล้วและมีส่วนผสมของแพะที่มีสารฟีโรโมนอยู่ในนั้นด้วย นอกจากใช้ในน้ำหอมแล้ว ยังใช้ในครีม โลชั่น สบู่

​ขณะนี้มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป หรือให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อทำน้ำหอมเฉพาะส่วนบุคคล ส่วนการพัฒนาต่อจากนี้อาจเป็นการนำสิ่งที่เหลืออยู่ ได้แก่ ขนแพะที่เหลือจากการสกัดสารออกแล้ว หรือ ขนแพะที่สะอาดแล้ว โดยอาจจะทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรงปัดแก้มขนแพะ ซึ่งมีราคาแพงในตลาดต่างประเทศ และอาจพัฒนาใช้ในรูปแบบเทคโนโลยีเอนแคปซูเลชัน (encapsulation technology) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อีกด้วย

​ส่วนผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากโครงการวิจัยนี้ ยังสามารถนำกลับไปใช้ในพื้นที่ เนื่องจากโครงการวิจัยนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนในจังหวัดกระบี่ เช่น อาจนำไปใช้ในกิจการโรงแรมและสถานประกอบการต่าง ๆ ของจังหวัดกระบี่ เป็นต้น

​สามารถร่วมสัมผัส “น้ำหอมจากขนแพะ”ได้ ในงาน Thailand Research Expo 2021 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 16 ประกอบด้วย ภาคนิทรรศการ 560 ผลงาน จาก 163 หน่วยงาน และภาคการประชุม/สัมมนาใน 105 หัวข้อเรื่อง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก โดยจัดระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์









วช. มอบรางวัลธนาคารปูม้าชุมชน ฟื้นปูม้าคืนสู่ทะเลไทย

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลการประกวด “ธนาคารปูม้าชุมชน” เพื่อความยั่งยืน ในงานมหกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้มอบรางวัลฯ 

โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงาน และมีนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานคณะทำงานขยายผลธนาคารปูม้า นายสมบูรณ์ วงศ์กาด อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และนายสุชัช ศุภวัฒนาเจริฐ หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจ เข้าร่วมในพิธีมอบรางวัลฯ ณ เวที Highlight Stage ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

พิธีมอบรางวัลการประกวด "ธนาคารปูม้าชุมชน" ที่ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูปูม้าคืนสู่ทะเลไทย เพื่อความยั่งยืน ที่ วช. เข้าไปสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ชุมชนต้นแบบกว่า 500 ชุมชนทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูม้าและปล่อยคืนสู่อ่าวไทย มาตั้งแต่ปี 2561 โดยได้แบ่งประเภทการมอบรางวัลออกเป็น 3 ประเภท คือ  1. ประเภทธนาคารปูม้าชุมชนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จำนวน 3 รางวัลได้แก่ รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านเขาดัน จังหวัดจันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ธนาคารปูม้าท่าพยา จังหวัดนครศรีธรรมราช และรางวัลชนะเลิศ ธนาคารปูม้าบ้านดอนสาม (ชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปูปากน้ำชุมพร) จังหวัดชุมพร  2. ประเภทธนาคารปูม้าชุมชนเดิมที่มีการดำเนินการต่อเนื่อง จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านแหลมสน จังหวัดตราด รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านหยงสตาร์ จังหวัดตรัง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ธนาคารปูม้าชุมชนบ้านท้องโตนด จังหวัดชุมพร  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ธนาคารปูม้าบ้านนาชุมเห็ด จังหวัดตรัง และรางวัลชนะเลิศ ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 3. ประเภทศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าชุมชน จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านหินกบ (ศูนย์เรียนรู้การเพาะและอนุบาลลูกปูม้าเพื่ออนุรักษ์โดยชุมชนบ้านหินกบ) จังหวัดชุมพรรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ธนาคารปูม้าชุมชนสำเภาคว่ำ จังหวัดจันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ศูนย์เรียนรู้การขยายพันธ์ุปูม้าและธนาคารปูม้าแบบชุมชนมีส่วนร่วม อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และรางวัลชนะเลิศ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช 


นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษ รางวัลธนาคารปูม้าที่มีศักยภาพสูงด้านการพัฒนา 1 รางวัล คือ ธนาคารปูม้าบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด ธนาคารปูม้า (Crab Bank) เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่รัฐบาลที่จะฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรปูม้าในทะเลไทย โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มจำนวนลูกปูม้าในธรรมชาติให้เจริญเติบโตกลับแทนไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ด้วยวิธีง่าย ๆ แต่ให้ผลตอบแทนอย่างมหาศาล ซึ่งธนาคารปูม้าในแต่ละชุมชนมีกิจกรรมและรูปแบบที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่มีหลักการที่คล้ายกันคือ คนในชุมชนจะร่วมมือกันนำแม่ปูที่มีไข่แก่นอกกระดองมาฝากไว้ในกระชังหรือคอกเพื่อให้แม่ปูม้าปล่อยไข่ก่อนนำแม่ปูไปขาย แล้วจึงนำลูกปูม้าที่เพาะฟักจากไข่ไปปล่อยคืนสู่ทะเล เป็นอาหารและแหล่งที่มาของรายได้ชาวประมงต่อไป











วช.ปลื้มโชว์นวัตกรรม “เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง” รางวัลระดับนานาชาติ




นักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โชว์นวัตกรรม “เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง” รางวัลระดับนานาชาติ นวัตกรรมถูกและดี ช่วยสิ่งแวดล้อมปลอดภัย

วันนี้ (24 พฤศจิกายนน 2564) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดเวทีเสวนา Research xpo Talk ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ครั้งที่ 16 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 วช. เปิดตัว “เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง” ผลงานวิจัย นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการเสวนา Research Expo Talk ณ เวที Mini Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้อว.มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยและนวัตกรรม มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และผู้ใช้ประโยชน์แล้วจำนวนมาก โดยนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ที่มาจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเชื้อไวรัสโควิด-19  วช.ได้ให้การสนับสนุนในการส่งเข้าประกวดในเวทีระดับนานาชาติและได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณระดับเหรียญทอง จากเวที ” Innovation Week in Africa” (IWA 2021) จัดขึ้นโดยสมาคม OFEED แห่งประเทศโมร็อกโก นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะตัวแทนประเทศไทยในเวทีระดับ นานาชาติ

นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล เปิดเผยว่า ที่มาของนวัตกรรมชิ้นใหม่นี้เกิดจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่นควันค่อนข้างมาก จำเป็นต้องใช้การนำเข้าแผ่นกรอง Hepa filter จากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงและต้องมีการบำรุงรักษา จึงคิดอยากจะทำเครื่องกรองอากาศสำหรับพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่ปิดและพื้นที่เปิด โดยมีต้นทุนการบำรุงรักษาต่ำและไม่ต้องใช้แผ่นกรองที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก เลยกลายเป็นต้นแบบเครื่องกรองอากาศ “บุ๋งบุ๋ง” ซึ่งที่เป็นผลงานพัฒนาเครื่องรุ่นที่3 โดยรุ่นที่ 1 ทำการทดสอบเปรียบเทียบกับเครื่องฟอกอากาศชนิดอื่นๆ และดูว่าตัวไหนที่ได้ผลดีจึงนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องฟอกอากาศรุ่นที่ 2 ได้รับรางวัลจากการประกวดที่ประเทศตุรกี

เครื่องรุ่นที่ 3 มีหลักการทำงานโดยดึงอากาศลงไปในน้ำ จากนั้นอากาศจะลอยพ้นน้ำมาอีกด้าน ซึ่งจะมีตัวดักฝุ่น ดักฟองน้ำที่จะลอยคืนกลับให้ฟองน้ำแตกตัว โดยใช้แผ่นฟองน้ำ โดยไม่ให้ฟองอากาศลอยกลับไปอีกด้านและดูดอากาศกลับคืนสู่บรรยากาศ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องรุ่นที่ 1 เป็นขนาดประมาณ 1 ฟุต รุ่นที่ 2 เป็นหลักการดันอากาศลงไปในน้ำด้วยปั๊มลมและมีอากาศกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้านหนึ่ง แต่ตัวที่ 2 พบว่ายังให้ความชื้นค่อนข้างมาก กรองอากาศได้ แต่คืนความชื้นกลับมาด้วย รุ่นที่ 3 จึงปรับจากปั๊มลมที่ดันอากาศลงน้ำมาเป็นพัดลมอัดอากาศที่ดูดอากาศออกจากน้ำซึ่งช่วยลดแรงต้านทานออกจากน้ำ

เครื่องรุ่นล่าสุด มีการแสดงผลมลภาวะทางอากาศผ่านจอ LCD ที่ตัวเครื่องและผ่าน LINE application และสามารถสั่งการเปิด-ปิดเครื่องผ่าน LINE application ได้ ในการใช้งานเปิดไฟเลี้ยงไว้และมีการตั้งค่าป้องกันฝุ่นPM2.5 ในสิ่งแวดล้อมไว้ที่ระดับ 50 เซนเซอร์หรือไมโครคอนโทรลเลอร์ จะคอยวัดระดับปริมาณฝุ่นPM 2.5 ไม่ให้เกิน 50 ถ้าเกิน 50 ไมโครคอนโทรลเลอร์จะสั่งการไปที่พัดลมดูดอากาศ เครื่องจะทำงานต่อเนื่องและจะหยุดทำงานเมื่อค่าฝุ่นต่ำกว่าระดับ 50

ทั้งนี้อัตราการดูดอากาศของปั๊ม 900 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง 2 ตัวรวม 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สามารถใช้งานในพื้นที่วัดความสูงจากพื้นถึงเพดาน 2-3 เมตรเป็นพื้นที่ประมาณ 100-500 ตารางเมตร แต่ค่าที่แน่นอนยังต้องทำการทดสอบวัดค่าอัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ (CADR) และการทำสอบทางไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างรอทุนสนับสนุนการวิจัยต่อเนื่อง

นอกจากเครื่องฟอกอากาศจะช่วยทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดแล้วเชื่อว่ายังจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสในอากาศได้ จากการวัดค่าฝุ่นที่เครื่องสามารถกรองได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ PM0.3-0.10 ขณะที่ไวรัสโควิด-19 มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดPM 0.125 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าฝุ่น PM 0.1 เครื่องวัดในห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถวัดได้ แต่จากผู้คนที่เดินไปมา เชื้อไวรัสมีการปะปนออกมากับละอองน้ำลายที่มีขนาดเกินกว่า PM 0.3 จึงคาดการณ์ว่า จะสามารถกรองหรือฆ่าเชื้อได้

นายแพทย์อานนท์ กล่าวต่อว่า ต้นทุนการพัฒนาเครื่องต้นแบบรุ่นที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท แต่หากมีการผลิตในระดับอุตสาหกรรมจะอยู่ระหว่าง 20,000 -30,000 บาทหรือต่ำกว่านี้ได้ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายถูกทั้งค่าน้ำและค่าไฟไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งสามารถปรับทำให้มีขนาดเล็กหรือใหญ่ตามที่ต้องการได้ เวลานี้มีการจดอนุสิทธิบัตรกระบวนการทำงานไว้แล้ว และจะมีการทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นและการทดสอบทางไฟฟ้าจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเพื่อนำผลงานเข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย และเตรียมพร้อมสำหรับการจดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาระดับนานาชาติต่อไป ส่วนการถ่ายทอดองค์ความรู้ มีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารเผยแพร่ให้ประชาชนและนักวิชาการสามารถอ่านได้ และหากต้องการทราบรายละเอียดหรือเจรจาซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาสามารถติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยได้”

อนึ่งเครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เป็นประกาศเกียรติคุณระดับเหรียญทอง จากเวที ” Innovation Week in Africa” (IWA 2021) จัดขึ้นโดยประเทศมร็อกโก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 12 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ณ กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโก  และได้รับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จากบทความวิจัยเรื่อง Semi-outdoor filterless air purifier for smog and microbial protection with water purifier system ในวารสาร Environmental research ซึ่งอยู่ในฐาน Scopus ระดับ Q1 อีกด้วย

วช. ผนึก สบร. บริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

 


ช่วงเช้า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีลงนามความร่วมมือการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อคัดกรองชุดข้อมูลองค์ความรู้ การจัดทำเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงานวิจัยร่วมกัน เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้สาธารณะออนไลน์ กับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สบร. ณ เวที Highlight Stage ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลง เพื่อความร่วมมือการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับ สบร. นับว่าเป็นความร่วมมือที่สำคัญในการพัฒนากลไกการเข้าถึงข้อมูลผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ในรูปแบบที่สะดวกต่อการเข้าถึง เรียนรู้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามความสะดวกของกลุ่มเป้าหมาย ก่อเกิดการพัฒนาอาชีพ รายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

วช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม จึงมีความพร้อมในการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัย การคัดกรองชุดข้อมูลองค์ความรู้การวิจัย การจัดหมวดหมู่ การพัฒนาสื่อ เผยแพร่ และการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยไปปรับใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานความรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม

ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือการบริหารจัดการองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับ วช. สบร. เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทภารกิจหลักในด้านการบริหาร และจัดการองค์ความรู้ให้มีความสมบูรณ์ หลากหลาย อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการจัดให้มีระบบการเรียนรู้สาธารณะ รวมถึงเป็นต้นแบบแหล่งบริหารองค์ความรู้ รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย และเสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

ในส่วนที่ วช. ให้การสนับสนุน คือ การคัดกรองชุดข้อมูลองค์ความรู้ การจัดทำเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงานวิจัยร่วมกัน รวมถึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้สาธารณะออนไลน์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบที่สะดวกต่อการเข้าถึง และให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ได้ในวงกว้าง


โดยความร่วมมือ วช. และ สบร. จะเป็นอีกก้าวสำคัญ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ เพื่อให้ประชาชน สามารถนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานความรู้ ได้อย่างเป็นรูปธรรม 

สำหรับการจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 2564 ผู้สนใจสามารถเดินทางมาร่วมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรม กว่า 500 ผลงานได้ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

วช. โชว์ "มหัศจรรย์ฟองอากาศ ขนาดเล็กจิ๋ว : เกษตรกรรมบนวิถีปกติใหม่” บนเวที Research Expo Talk ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564

 


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม Research Expo Talk เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ครั้งที่ 16 วช. ได้นำ “ผลงานวิจัย เรื่อง “มหัศจรรย์ฟองอากาศ ขนาดเล็กจิ๋ว : เกษตรกรรมบนวิถีปกติใหม่” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนกร ราชพิลา แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มานำเสนอในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  (Thailand Research Expo 2021)  ณ เวที Mini Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนกร ราชพิลา หัวหน้าวิจัยกล่าวว่า อุปกรณ์กำเนิดฟองอากาศขนาดเล็กจิ๋ว เป็นอุปกรณ์ที่หาง่ายและมีราคาถูกแบบท่อทรงกระบอก ต้นทุนเพียง 100 บาท สามารถสร้างฟองอากาศขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยในช่วง 1-50 ไมโครเมตร การผสมอากาศเข้าไปในปั้มของเหลวใบพัดของปั้มจะหมุนอย่างรวดเร็วสร้างแรงเฉือนตัดย่อยฟองให้มีขนาดเล็ก ยิ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายโอนก๊าชกับของเหลว ซึ่งหลังการเก็บเกี่ยวสามารถลดปริมาณจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในผักสดได้

โครงการวิจัย “มหัศจรรย์ฟองอากาศ ขนาดเล็กจิ๋ว : เกษตรกรรมบนวิถีปกติใหม่” ได้นำไปให้เกษตรกรกลุ่มพืชผักสวนครัว โครงการเศรษฐกิจฐานรากสกลนครโมเดล โดยการสร้างและนำอุปกรณ์กำเนิดฟองอากาศขนาดจิ๋วไปใช้ในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในการเกษตร ผลปรากฏว่า ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีต้นแบบการปลูกผักและเลี้ยงปลาแบบผสมผสานในระบบอะควาโปนิคร่วมกับฟองอากาศขนาดจิ๋วในการเลี้ยงปลาระบบความหนาแน่นสูงส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพยิ่งขึ้น


 วช. หวังว่างานวิจัยดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์และเป็นทางเลือกในการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและการผลิตอาหารบริโภคเองของประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  (Thailand Research Expo 2021) สามารถเข้าร่วมชมได้ ตั้งแต่บัดนี้ - วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 อีกด้วย ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ