วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วช. เผยผลสำเร็จ นักวิจัยมหิดล วิจัยชุดตรวจคัดกรองโรคในปาก รู้ผลไว

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2564 หนึ่งในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญ คือ โรคในช่องปาก ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูงวัยที่มีภาวะโรคดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิง วรานันท์ บัวจีบ หัวหน้าโครงการวิจัยนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคในปาก จึงได้เริ่มการศึกษาโรคดังกล่าวในประชากรสูงวัย เพื่อนำข้อมูลที่สำคัญมาวิเคราะห์เตรียมความพร้อมให้ผู้สูงวัยมีบั้นปลายชีวิตที่เป็นสุข 

ศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิง วรานันท์ บัวจีบ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำรัส พร้อมมาศ ดร.เบญจพร  เลิศอนันตวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรี เจียรนัยกูร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในแผนงานทุนท้าทายไทย เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในการคิดค้นนวัตกรรม ชุดตรวจคัดกรองโรคในปาก ของผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนาชุดตรวจให้มีประสิทธิภาพ รู้ผลได้เร็ว เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในระยะแรก มักไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด ทำให้มักจะมาพบทันตแพทย์เมื่อโรคลุกลามมาก การป้องกัน และเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งช่องปากจึงมีความสำคัญ และจำเป็น จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่ามะเร็งช่องปากมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเคี้ยวหมาก รวมทั้งการติดเชื้อไวรัส HPV

ทีมผู้วิจัยตระหนักถึงความเสี่ยงของการติดเชื้อ HPV ในช่องปาก ที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งของเยื่อเมือกช่องปาก จึงพยายามพัฒนาให้มีวิธีการคัดกรองไวรัส HPV ในช่องปากเบื้องต้นที่ทำได้รวดเร็ว เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และการตรวจสอบหารอยโรคที่เสี่ยงสูงต่อการกลายเป็นมะเร็งทั้งนี้ในผู้สูงอายุมักพบรอยโรคที่เสี่ยงสูงต่อการกลายเป็นมะเร็งของเยื่อเมือกในช่องปากที่สำคัญ ได้แก่ รอยโรคลิวโคเพลเคียและรอยโรคไลเคน แพลนัส การมีไวรัส HPV ในรอยโรคดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งช่องปาก 

นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคในปาก ได้ถูกนำมาตรวจคัดกรอง HPV ในรอยโรคลิวโคเพลเคียและรอยโรคไลเคน แพลนัส โดยการใช้แปรงขนนิ่มขนาดเล็กขูดเซลล์ที่รอยโรคดังกล่าวไปตรวจหาไวรัส จัดว่าเป็นวิธีที่สะดวก ทำได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดแผลหรือความเจ็บปวด และยังช่วยในการเฝ้าระวังและติดตามโรค รวมถึงให้การรักษาที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ

โดยขั้นตอนของการตรวจ หลังจากการทำปฏิกิริยาที่ใช้เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ เพื่อเพิ่มปริมาณไวรัสที่จะตรวจแล้วจะใช้วิธีตรวจที่พัฒนาขึ้นนี้ทดแทนการรันเจลที่ใช้เวลานานกว่า เพื่อตรวจสอบผลการคัดกรองมะเร็งจากเชื้อไวรัสด้วยเทคนิคเคมีไฟฟ้า โดยการผสมสีที่เมื่อแตกตัวแล้วส่งสัญญานไฟฟ้าได้ สีดังกล่าวจะมีการเตรียมให้จำเพาะต่อดีเอ็นเอของไวรัสที่เกี่ยวข้องกับการคัดกรองมะเร็ง ดังนั้นหากพบดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส สีดังกล่าวจะเข้าจับ และเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น ซึ่งปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นขึ้นอยู่กับปริมาณหรือจำนวนของเชื้อไวรัส  

การทดสอบขั้นตอนนี้ทำได้ง่ายด้วยการหยดดีเอ็นเอที่ติดสีดังกล่าวเพียงหยดเดียวลงบน strip test ที่ทางโครงการวิจัยได้พัฒนาขึ้น แล้วใช้เครื่องอ่านผลปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้าแบบพกพาขนาดเล็กที่มีการใช้อยู่แล้ว โดยเชื่อมต่อสัญญาณกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้ทราบผลการวัดในเวลารวดเร็ว

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สนับสนุนงานวิจัยด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้อายุให้ได้รับการบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการนำองค์ความรู้ต่างๆ ขับเคลื่อนผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ไปสู่การขยายผลต่อกลุ่มเป้าหมายและผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคในปาก เป็นชุดตรวจที่สะดวก ทำได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดแผลและสามารถลดระยะเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี

มากกว่า 1 ปี "CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19"

จากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกและประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบ การให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นเวลามากกว่า 1 ปี ที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ส่งมอบอาหารพร้อมรับประทานและเครื่องดื่ม ภายใต้โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” เพื่อแทนคำขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ

ชมคลิป : https://youtu.be/2l4egJwmTOY

https://we.tl/t-IsokJzkonG









วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

อว.พารอด นำนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ มอบให้โรงพยาบาลบุษราคัม และโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รองรับผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้แถลงนโยบายและผลงาน เรื่อง “วิจัยและนวัตกรรมนำไทยสู้ภัย Covid-19” พร้อมทั้งได้มีการส่งมอบนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ สำหรับติดตั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
รมว. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้ในการสนับสนุนด้านสาธารณสุข ที่ได้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม แก่สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ ได้นำไปติดตั้งที่โรงพยาบาลบุษราคัม โรงพยาบาลทหารผ่านศึก และโรงพยาบาลเลิดสิน พร้อมกับเตรียมติดตั้งรวมแล้วมากกว่า 20 ห้อง ในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 อว.ได้มีการประสานหลอมรวมระหว่างอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว และจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา 


อว.ได้มีการสนับสนุนการวิจัยด้านยา ชุดตรวจ วัคซีน รวมทั้งยังได้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม วิเคราะห์ข้อมูลและติดตามให้กับศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหลายแห่งในพื้นที่ของ อว.

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19   อว. โดย วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนา “นวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่” เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น 


โดยผลสำเร็จจากการพัฒนานวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ ทีมนักวิจัยได้นำไปติดตั้งให้กับโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ปริมณฑล  ซึ่งมีความต้องการใช้ห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น จากความพร้อมในการใช้งาน จึงได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี  โดยห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่นี้ จะสามารถจำกัดวงกว้างในการควบคุมเชื้อโรคให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัดได้ 


โดยมีขนาด 3x6.5 เมตร/ยูนิต มีห้อง anteroom ในตัว มีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ ทั้งกรณีที่มีการเปิด-ปิดประตูในแต่ละห้อง พร้อมระบบดูดอากาศผ่านเครื่องกรองอากาศฆ่าเชื้อโรค ที่มีประสิทธิภาพสูงในการกรองอนุภาคขนาดเล็กที่อาจมีเชื้อโรคเจือปน เพื่อกรองเชื้อไวรัสและปล่อยออกมาสู่ภายนอกอาคารเป็นอากาศบริสุทธิ์ 


ในแต่ละยูนิตจะรองรับผู้ป่วยได้ 1 คน และสามารถปรับรูปแบบการใช้งานได้ตามความต้องการ เช่น เป็นห้อง ICU ห้องตรวจ หรือห้องฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังสามารถนำนวัตกรรมนี้ไปใช้งานได้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้อีกในอนาคต จากนี้ วช. จะดำเนินการติดตั้งต่อไปให้กับโรงพยาบาลที่ได้รับการประสานงาน เพื่อช่วยรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


“นวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่” เป็นการสนับสนุนทุนวิจัยจาก อว. โดย วช. แก่สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ภาควิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ในการพัฒนานวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก อีกทั้ง ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ห้อง ICU ดังกล่าว ยังสามารถนำไปใช้งานร่วมกับผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้ เช่น โรควัณโรค เป็นต้น ตอบโจทย์เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง





วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

CPF-เซเว่นฯ "ส่งอาหารจากใจ" เสริมทัพทีมแพทย์ 'จุดตรวจโควิด' เขตบางพลัด

 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผนึกกำลัง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือเซเว่น อีเลฟเว่น เดินหน้ามอบอาหารพร้อมทานคุณภาพปลอดภัยและน้ำดื่ม ในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” และ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ตามนโยบายเครือซีพี ให้สำนักงานเขตบางพลัด เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานและเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนอาสาสมัครในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกแก่ประชาชนฟรี บริเวณใต้สะพานพระราม 8

ชมคลิป>> https://youtu.be/IIKhebs1iLY

https://we.tl/t-bc1qkPbzta

'CPF' จับมือ 'เมเจอร์' ส่งอาหารเสริมทัพนักรบชุดขาว ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ผนึกกำลังคู่ค้าและพันธมิตร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เดินหน้ามอบอาหารพร้อมทานบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง นมซีพี-เมจิ และป๊อปคอร์นหลากรสชาติ ในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ตามนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้แก่ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เพื่อแทนคำขอบคุณและแบ่งเบาภาระการจัดเตรียมอาหารแก่ทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่และจิตอาสา ในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไปด้วยกัน ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลาง สถานีกลางบางซื่อ


ชมคลิป>> https://youtu.be/M1vsjUmABUw

ซีพีเอฟ ช่วยดูแลน้องๆ "รร.ตชด." ฝ่าวิกฤตโควิด มีคลังเสบียง จาก"โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ" ให้อิ่มท้อง


การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด -19 นอกจากทำให้ต้องมีวินัยในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ใส่ใจกับความสะอาด ความปลอดภัย แม้แต่การกินอยู่  ผลกระทบไปถึงรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปสู่ระบบออนไลน์ จากการที่สถานศึกษาไม่สามารถเปิดทำการสอนได้ตามปกติ 

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หรือ โรงเรียน ตชด. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล น้องๆนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตโควิด -19  น้องหลายคนไม่ได้มีโอกาสเรียนออนไลน์ เพราะที่บ้านไม่มีโทรศัพท์มือถือ เป็นหน้าที่ของคุณครู ที่ต้องนำใบงานไปส่งให้น้องๆที่บ้าน เพื่อที่จะได้ทบทวนบทเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง ขณะเดียวกัน คุณครูต้องทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของเด็กๆ รวมไปถึงครอบครัวของเด็กๆด้วย

ผลผลิตไข่ไก่ที่ได้จาก "โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" จากรร.ตชด.ที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นอาหารมื้อสำคัญของเด็กๆในแต่ละวัน ซึ่งปีนี้ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่มี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกันดำเนินการ เพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชน เข้าถึงโปรตีนคุณภาพ และภาวะโภชนาการที่ดี ดำเนินการเป็นปีที่ 32 แล้ว มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ 880 รร.ทั่วประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นรร. ตชด. ที่ร่วมด้วย


ด.ต.หญิงสำรวย  อินอุ่นโชติ  ครูผู้ช่วยครูโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน  รับผิดชอบกิจกรรมด้านปศุสัตว์  การเลี้ยงไก่ไข่  รร.ตชด. บ้านเขาสารภี  ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เล่าว่า  โรงเรียนมีนักเรียนที่เป็นเด็กไทยและกัมพูชา 74 คน เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เป็นปีที่ 24 แล้ว โดยปกติเด็กๆ จะได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารมื้อกลางวัน แต่ในช่วงโควิด -19 เด็กๆไม่ได้มาโรงเรียน เราก็ห่วงเรื่องสุขอนามัย  

ครูใหญ่จึงมอบหมายให้คุณครูประจำชั้น นำไข่ไก่ไปแจกจ่ายให้กับนักเรียนถึงที่บ้าน ให้ได้บริโภคไข่คนละ 15 ฟองทุกสัปดาห์ รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ทั้งผักและปลา ที่คุณครูนำไปให้ผู้ปกครองทำให้เด็กๆได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะเด็กส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด  อาหารที่นำไปให้นักเรียน จึงช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้  นอกจากนี้ โรงเรียนยังอนุญาตให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงกับโรงเรียนเข้ามาเก็บผัก แบ่งเมล็ดพันธุ์ผักของโรงเรียนไปปลูกที่บ้าน หรือในช่วงที่ปลดระวางแม่ไก่ทุกรุ่น ผู้ปกครองจะขอซื้อแม่ไก่ไปเลี้ยงต่อ บ้านละ 5-10 ตัว ทำให้มีไข่ไก่ได้บริโภคทุกวัน ผลผลิตไข่ไก่อีกส่วนหนึ่ง ก็ส่งเข้าสหกรณ์เพื่อจำหน่ายให้ชุมชนในราคาย่อมเยา แผงละ 30 ฟอง ราคา 85 บาท 


ด.ญ. ณัฐณิชา เวหาด หรือน้องกัน นักเรียนชั้น ป.1 รร.ตชด.บ้านเขาสารภี  เล่าว่า อาศัยอยู่กับย่า 2 คน พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด พอมีโควิด ย่าไม่ค่อยได้ไปทำงานรับจ้าง ก็ยิ่งลำบากกว่าเมื่อก่อน มีคุณครูมาช่วยดูแล เอาไข่ไก่ ปลา กับผักมาให้ทุกอาทิตย์ รู้สึกดีใจมากที่ครูมาเยี่ยมและนำอาหารมาให้ด้วย เพราะย่าก็ได้กินด้วย น้องกันชอบทำไข่เจียว เพราะทำง่ายและอร่อยด้วย ที่บ้านยังเอาเมล็ดพันธุ์ผักที่ครูให้มาปลูกไว้ด้วย  ผลผลิตช่วยลดรายจ่ายได้มากๆ  ขอขอบคุณโรงเรียนและคุณครูที่เป็นห่วงนักเรียน ถึงแม้จะไม่ได้ไปโรงเรียนก็ยังมาดูแล ทำให้ได้กินไข่ ผัก ปลา เหมือนตอนที่ไปโรงเรียน 

ที่โรงเรียน ตชด.บ้านควนตะแบก ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ซึ่งเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เป็นปีที่ 13 ด.ต.วีรพงศ์ สังข์แก้ว ครูผู้รับผิดชอบโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน บอกว่า ช่วงนี้ทั้งครูและนักเรียนต้องปรับตัวตามสถานการณ์โควิด ถึงแม้เด็กนักเรียนทั้ง 110 คน มาเรียนไม่ได้ แต่คุณคณูพร้อมเติมพลังกายให้พวกเขา นำผลผลิตไข่ไก่ไปให้ ปัจจุบันโรงเรียนเลี้ยงแม่ไก่ 200 ตัว ผลผลิตที่ได้แต่ละวัน สามารถนำไปให้กับนักเรียนได้ทุกคน คนละ 15 ฟองต่อสัปดาห์ อีกส่วนจำหน่ายให้ชุมชน มีการสั่งจองล่วงหน้า วันละ 150-160 ฟอง ส่วนพืชผักที่ปลูกในโรงเรียน ครูจะแจ้งให้ผู้ปกครองและนักเรียนเข้ามารับได้ฟรี พร้อมสนับสนุนให้นำเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูกเองที่บ้าน เพื่อสร้างอาหารที่ยั่งยืนในครัวเรือน

ทางด้านโรงเรียนชายขอบติดพรมแดนประเทศลาว โรงเรียนตชด.บ้านห้วยเป้า ต.ปากชม อ.ปากชม จ.เลย  ด.ต. ภูวนาท แสนคำอ้วน ครูผู้ดูแลโครงการฯ เล่าว่า ตลอด 10 ปีที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เด็กๆได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ที่่นำไปใช้เป็นพื้นฐานอาชีพติดตัว หลายครอบครัวซื้อไก่ที่ปลดระวางไปเลี้ยง ได้บริโภคไข่ไก่ ลดรายจ่ายของที่บ้าน ช่วงการระบาดของโควิด  นักเรียน 142 คน ไม่ได้มาโรงเรียน แต่ยังได้บริโภคไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกสัปดาห์คุณครูจะร่วมกันทำอาหารจากไข่ไก่ ไข่เป็ด ปลาดุก ผักสวนครัว ไปมอบให้นักเรียน พร้อมกับไข่ไก่อีกคนละ 5 ฟอง เพื่อดูแลสุขอนามัยของเด็กๆ  ขณะเดียวกัน โรงเรียนยังกลายเป็นแหล่งอาหารของชุมชน มีไข่ไก่จำหน่ายในราคาย่อมเยา ช่วยลดค่าจ่าย เรียกได้ว่าเป็นสวัสดิการชุมชนในช่วงโควิด

“โรงเรียนมีแนวคิดว่าเด็กของเรา ต้องอิ่มท้อง อิ่มสมอง เหมือนตอนที่มาโรงเรียน เพราะบางครอบครัวอาจไม่สามารถดูแลให้เด็กได้รับอาหารครบ 5 หมู่ บางคนพ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น ต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย บางคนต้องดูแลผู้ปกครองที่เข้าสู่วัยชรา การเข้าไปหาเด็กๆเพื่อมอบอาหาร เช่น  ไข่ไก่ เป็นการเปิดโอกาสให้ครูได้พบปะและได้ดูแลพวกเขา ต้องขอบคุณซีพีเอฟ และมูลนิธิฯ ที่สนับสนุนตลอดมา ทั้งพันธุ์สัตว์และอาหารรุ่นแรก แนะนำการดูแลสัตว์ ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพสัตว์ เรื่องบัญชีและการบริหารสต๊อก ทำให้โครงการมีความต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน" ด.ต.ภูวนาท กล่าว 

"โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" ภายใต้การสนับสนุนของซีพีเอฟและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน ตอบโจทย์การเข้าถึงอาหารและการบริโภคอย่างพอเพียง ได้ ทั้งในภาวะปกติและวิกฤต

วช. หนุน ม.ศิลปากร นำพาราโบลาโดม อบแห้งเมล็ดกาแฟเพิ่มมูลค่า ให้เกษตรกรพื้นที่สูง

นักวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร นำนวัตกรรมระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ “พาราโบลาโดม”แก้ปัญหาและเพิ่มมูลค่าการผลิตเมล็ดกาแฟอบแห้ง วิสาหกิจชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สามารถใช้งานบนพื้นที่สูงอย่างมีประสิทธิภาพ 


การอบแห้งเมล็ดกาแฟของเกษตรกรบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ นิยมใช้วิธีการตากแห้งแบบดั้งเดิม จึงประสบปัญหาเรื่องฝนตก แมลงรบกวน ขนาดพื้นที่ที่จำกัดและระยะเวลาการตากแห้งหลายสิบวัน จนเกิดเชื้อรา ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ ขายได้ราคาถูก ซึ่งในแต่ละปีจะมีผลผลิตเมล็ดกาแฟเกิดขึ้นในพื้นที่จำนวนมาก 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุศรากรณ์ มหาโยธี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า พาราโบลาโดม ถูกใช้อย่างกว้างขวางกับผลิตภัณฑ์อบแห้งหลากหลายชนิด  สำหรับการอบแห้งเมล็ดกาแฟ  นักวิจัยได้ใช้พาราโบลาโดมมาตรฐานขนาดเล็ก ขนาดพื้นที่ฐาน 6.0 x 8.2 ตร.ม. และพาราโบลาโดมขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่จำกัดบนดอย คือ ขนาดพื้นที่ฐาน 3.0 x 6.2 ตร.ม. ติดตั้งใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยไม้ดำ กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองขาวกลาง และวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรบ้านหนองขาวเหนือ ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟได้ดี


“จุดเด่น คือ ได้ผลลัพธ์ของกาแฟอาราบิกาคุณภาพพิเศษ ที่เรียกว่า Honey Process และใช้เวลาอบแห้งเพียงแค่ 3 วัน ลดลงจากเดิมถึง 3 เท่า สามารถรักษารสชาติของกาแฟไว้ได้เป็นอย่างดี และขายได้ในราคาที่สูงกว่าเดิมหลายเท่า เป็นการส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกกาแฟแบบ Shade -Grown Coffee ซึ่งเป็นการทำเกษตรแบบอนุรักษ์ป่าอีกทางหนึ่ง นวัตกรรมมีกระบวนการไม่ซับซ้อน ตามแบบนวัตวิถี เหมาะต่อการใช้งานของเกษตรกร โดยวางเป้าหมายการขยายผล ด้านการเผยแพร่ความรู้ไปยังเกษตรกรบนพื้นที่สูงมากยิ่งขึ้น หากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ก็จะสามารถร่วมกันอบรมต่อยอดนวัตกรรมนี้ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เกษตรกรเกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์อื่นตามมา เกิด Local Enterprise และการซื้อขายที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร สร้างโมเดลภาคธุรกิจชุมชนที่มั่นคงต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุศรากรณ์ กล่าว


ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ มีโครงสร้างแบบเรือนกระจก (Greenhouse) เป็นรูปพาราโบลา ปิดคลุมด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต เพื่อให้เกิดหลักการเรือนกระจก คือ เมื่อรังสีดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนต ไปยังผลิตภัณฑ์ในชั้นวาง บางส่วนจะตกกระทบพื้นของระบบอบแห้ง ทำให้ภายในระบบอบแห้ง มีอุณหภูมิสูงขึ้น รังสีอินฟราเรดในแสงแดดถูกเก็บกักไว้ภายในระบบอบแห้ง เนื่องจากไม่สามารถผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนตออกไปได้ อุณหภูมิภายในระบบจึงสูงขึ้น น้ำในผลิตภัณฑ์จะระเหยออกมา และถูกพัดลมดูดอากาศด้านหลังของระบบดูดออกไปภายนอก อากาศภายนอกจะไหลเข้ามาแทนที่ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์แห้งเร็วกว่าการตากแดดตามธรรมชาติ ประหยัดเวลา ช่วยป้องกันฝนและแมลงรบกวน 

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. มีนโยบายสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาของไทยพัฒนานวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งสามารถผลิตนวัตกรรมเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร สิ่งแวดล้อม  และอื่น ๆ ตามความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น นวัตกรรมหลายประเภทสามารถผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์  และอีกหลายโครงการเป็นการวางรากฐานงานวิจัยของไทยให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาวต่อไป เช่นเดียวกับ นวัตกรรมพาราโบลาโดมนี้ ที่ช่วยแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ให้กับวิสาหกิจชุมชนด้านการทำการเกษตร ซึ่งเป็นฐานรากทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอีกด้านหนึ่ง