วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“ซีพีเอฟ" ยกระดับมาตรการป้องกันพนักงานสูงสุด ยืนยันผลิตอาหารปลอดภัยไร้โควิด-19 กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี

โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จ.สระบุรี ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานในระดับสูงสุด และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีพนักงานติดเชื้อจํานวนหนึ่ง โรงงานจึงได้ดำเนินการ ดังนี้ 

❇️ ด้านพนักงาน : ตรวจคัดกรองพนักงานทั้งหมดทุกคนและส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา แยกผู้เสี่ยงสูงเข้ากักตัวในสถานที่ที่สาธารณสุขจัดให้เป็นเวลา 14 วัน พร้อมตรวจยืนยันโรค 2 ครั้ง ส่วนผู้เสี่ยงต่ำให้กักตัวที่บ้านสังเกตอาการตลอดช่วง 14 วันเช่นกัน โดยปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของพนักงาน ทั้งนี้ พนักงานผู้ติดเชื้อเป็นผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่ไม่ได้สัมผัสผลิตภัณฑ์อาหารโดยตรง และในขณะปฏิบัติหน้าที่ทุกคนจะสวมชุดฟอร์ม หน้ากากอนามัยและผ้าปิดปากปิดจมูกอย่างมิดชิด ซึ่งช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อลงได้มาก  

❇️ ด้านสถานที่ : ได้หยุดการดำเนินงานในพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อปฏิบัติงานทันที เป็นเวลา 5 วันและทําความสะอาด Big Cleaning พร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทันที ตามมาตรการของ ก.สาธารณสุข ทั้งนี้ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจปนเปี้อนในสิ่งแวดล้อมของโรงงาน และต้องตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการว่าปราศจากเชื้อโรค ตลอดจนเพื่อคัดกรองพนักงานที่มีผลการตรวจโควิดเป็นลบเข้ามาปฏิบัติงาน ด้วยสถานที่ที่ปลอดเชื้อและพนักงานที่ปลอดโรค ทำให้กระบวนการผลิตจะดำเนินต่อได้อย่างปลอดภัย

บริษัทฯ ได้ดําเนินการยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยขั้นสูงสุด เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงานและผลิตภัณฑ์ของโรงงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม โรงงานชำแหละเนื้อไก่แห่งนี้เป็นเพียง 1 ใน 19 แห่งของบริษัทฯ ซึ่งทุกแห่งยังคงดำเนินการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการป้องกันโรคของ ก.สาธารณสุข อย่างเคร่งครัด ด้วยตระหนักถึงความปลอดภัยของพนักงานและผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเป็นสำคัญ ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทฯ

#เราจะผ่านวิกฤตโควิดไปด้วยกัน 😃

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

CPF ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศไทย! ส่งอาหารจากใจ หนุนแพทย์ฉีดวัคซีนให้ประชาชน ณ ดิ เอ็มโพเรียม

 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานซีพีและนมเมจิ จาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ภายใต้โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19”

 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ตลอดจนอาสาสมัคร ในหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งให้บริการประชาชนราว 1,000 คนต่อวัน นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด เป็นผู้แทนบริษัทฯ ส่งมอบ และ ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมด้วย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประเทศไทย โดย ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม

ซีพีเอฟ นำความเชี่ยวชาญด้านอาหารของบริษัทมาสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก กระทั่งถึงวันนี้ ซีพี-ซีพีเอฟ ส่งมอบอาหารหลายล้านแพ็ค น้ำดื่มหลายล้านขวด พร้อมความช่วยเหลือหลากหลายด้าน ส่งตรงถึงคนไทยอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 1 ปี ครอบคลุมมากกว่า 300 โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม รวมถึงกลุ่มเปราะบางหลากหลายกลุ่ม ทั้งแรงงานต่างชาติ และผู้ยากไร้ในชุมชนแออัด เช่น คลองเตย จนถึงการสนับสนุนอาหารทีมแพทย์ที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนในสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม เพื่อร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศไทย ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน  

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานของซีพีเอฟที่ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย เกี๊ยวกุ้งต้มยำ ข้าวน้ำพริกอกไก่ บะหมี่ไก่เทอริยากิ และข้าวหน้าเป็ดย่างโฟร์ซีซั่น เป็นต้น รวมถึงนมเมจิหลากหลายรสชาติ 

อนึ่ง ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ต้องการให้ทุกบริษัทในเครือซีพีร่วมช่วยเหลือสังคมในสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้โครงการ "ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19"





วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ ผนึกพลังกับภาครัฐ ยกระดับระบบป้องกันโรค ฟื้นฟูอุตสาหกรรมสุกร

นายสกล ชีวะโกเศรษฐ รองประธานกรรมการ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร คอร์ปอร์เรชั่น ฟิลิปปินส์ (ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์) ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOA) กับ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งฟิลิปปินส์ (The Development Bank of the Philippines : DBP)  เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการฟื้นฟูแลสร้างความแข็งแกร่งกับอุตสาหกรรมสุกรของประเทศฟิลิปปินส์โดยมี นายวิลเลี่ยม ดี. ดาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม ณ เมืองเฮโรน่า จ.ตาร์ลัค ประเทศฟิลิปปินส์

การลงนามบันทึกข้อตกลงในการดำเนินโครงการ “การให้เครดิต เพื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมสุกร” หรือ โครงการ สุกร R3 (Swine Rehabilitation, Repopulation and Recovery Credit” or Swine R3  program) ซึ่งเป็นโครงการให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนเกษตรกรยกระดับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มสุกร  สอดรับนโยบายของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ต้องการฟื้นฟูห่วงโซ่การผลิตสุกรในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาด

รมว.วิลเลี่ยม กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือในลักษณะ 3 ประสาน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตร เพื่อช่วยกันควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ASF และเพิ่มปริมาณการผลิตสุกรในพื้นที่ปลอดโรค โดยเชื่อมั่นว่า ด้วยความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการเลี้ยงสุกรที่มีระบบรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพที่ทันสมัยของ ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ และ การอุดหนุนเงินสินเชื่อให้แก่เกษตรกร เป็นการช่วยยกระดับความพยายามในการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรของประเทศเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

“กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับ ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีเทคโนโลยีและระบบการจัดการที่ทันสมัย โดยเฉพาะระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Biosecurity system) เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้การผลิตสุกรของฟิลิปปินส์กลับสู่สภาะปกติ และซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ยังช่วยขยายการผลิตในพื้นที่ใกล้กับกรุงมะนิลา ซึ่งเป็นตลาดหมูที่สำคัญของประเทศ” รัฐมนตรีกล่าว

ด้าน นายสกล กล่าวว่า ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นกิจการในกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่เข้ามาลงทุนและดำเนินธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์ ยึดมั่นในปรัชญา “3 ประโยชน์” เป็นหลักในการทำธุรกิจ ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยกันฟื้นฟูอุตสาหกรรมสุกรของฟิลิปปินส์ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ได้บริโภคอาหารคุณภาพ ปลอดภัย อย่างเพียงพอ ตลอดจนสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกร เร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของฟิลิปปินส์อย่างยั่งยืน

“ความร่วมมือครั้งนี้ ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ จะมาช่วยแบ่งปันองค์ความรู้ด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มที่ทันสมัยช่วยให้ภาคการผลิตสุกรของฟิลิปปินส์สามารถปรับตัวและป้องกัน ASF ได้สำเร็จ และสร้างโอกาสในการพัฒนาสู่การผลิตเพื่อส่งออกต่อไป ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมสุกรฟิลิปปินส์เติบโตอย่างยั่งยืน” คุณสกลกล่าวปิดท้าย

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ – เซเว่น อีเลฟเว่น ร้อยเรียงใจ หนุน รพ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.สมุทรสาคร และ รพ.บ้านแพ้ว สู้ภัยโควิด

จากนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้โครงการ “ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19” บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ยังคงเดินหน้าเคียงคู่คนไทยก้าวพ้นวิกฤตด้วยกัน จากวันแรก...ถึงวันนี้ ด้วยการเดินหน้าส่งมอบอาหารพร้อมทานในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ให้กับทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง

นายอุดมศักดิ์ แสงวณิช รองผู้อำนวยการ ภารกิจด้านอำนวยการ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ รับมอบผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานคุณภาพปลอดภัยจากซีพีเอฟ เพื่อเติมพลังกายและเสริมกำลังใจทีมนักรบชุดขาว ลดภาระการจัดเตรียมอาหาร เพื่อทุ่มเทเวลาในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 นอกจากกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนเวชภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ภาคเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ อย่างซีพีเอฟ ที่ได้นำอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานที่ปลอดภัย สะอาด และอร่อย มามอบให้ รวมถึงเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ส่งมอบครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับทีมแพทย์ด้วย พร้อมฝากประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงเว้นระยะห่างทางสังคม

นอกจากนี้ ที่จังหวัดสมุทรสาคร นายสุวิทย์ ประภากมล ผู้บริหารอาวุโส ซีพีเอฟ นำทีมซีพีเอฟจิตอาสา ร่วมมอบผลิตภัณฑ์อาหาร พร้อมกับทีมงานจิตอาสาจาก เซเว่น อีเลฟเว่น ที่นำครุภัณฑ์ทางการแพทย์ แอลกอฮอลล์ทำความสะอาด หน้ากากอนามัย และน้ำดื่ม มอบให้กับ นส.รัตติกรณ์ กาญจนะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสมุทรสาคร และ นส.ชนันท์ภัทร์ สุขประเสริฐ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เป็นตัวแทนโรงพยาบาล รับมอบ เพื่อนำไปสนับสนุนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนในพื้นที่ต่อไป

นายสุวิทย์ ประภากมล ผู้บริหารอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ตามนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ วิกฤตโควิด จากวันแรก...ถึงวันนี้ CP-CPF มอบอาหารพร้อมทานเพื่อบุคลากรทางการแพทย์และพี่น้องคนไทยแล้วหลายล้านแพ็ค รวมถึงน้ำดื่มและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ iMU ตลอดจนวัตถุดิบอาหารสดและเครื่องปรุงรส สำหรับนำไปปรุงอาหาร แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 100 แห่ง ผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยทั้งหมด จะส่งตรงถึงโรงพยาบาลสนาม โดยทีมโลจิสติกของซีพีเอฟ อาทิ เกี๊ยวกุ้ง, ข้าวอบธัญพืชและไก่, สปาเก็ตตี้คาโบนาร่าและราเมนโฮลวีตผัดขี้เมาไก่

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ผนึกกำลังกับ เซเว่น อีเลฟเว่น ทยอยส่งมอบครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ เจลแอลกอฮอลล์ หน้ากากอนามัย เครื่องวัดอุณหภูมิ และ เครื่องอุปโภคบริโภค ภายใต้โครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

CPF มอบอาหารหนุนกรมราชทัณฑ์ รับมือสถานการณ์โควิด-19

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรับมอบหน้ากากอนามัย CP และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ภายใต้ “โครงการ CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” จาก นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และนายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจข้าวและอาหาร บริษัท ซีพี.อินเตอร์เทรด จำกัด ตลอดจนความช่วยเหลือจากมูลนิธิพุทธรักษา มูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์ เพื่อแบ่งเบาภาระและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยมี นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมด้วย ณ กรมราชทัณฑ์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกความร่วมแรงร่วมใจ ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์วิกฤตต่างๆคลี่คลายลง โควิด-19 นี้ ก็เช่นกัน ในขณะที่กรมราชทัณฑ์กำลังตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ผู้ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยและเผชิญความเสี่ยงก็หนีไม่พ้นทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทุกคน วันนี้เครือซีพี-ซีพีเอฟไม่มองข้ามและเข้ามาให้การช่วยเหลือด้านอาหารอย่างรวดเร็ว ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูงไปถึงท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ด้วย

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มผู้ต้องขัง ภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อหลายพันคน นับเป็นอีกคลัสเตอร์หนึ่งของประเทศไทยที่ทีมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ ต้องเหน็ดเหนื่อยและเร่งเยียวรักษาผู้ติดเชื้อ ซีพี-ซีพีเอฟจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาภารกิจของทีมแพทย์ในสถานการณ์นี้  

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยของซีพีเอฟที่ส่งมอบให้กรมราชทัณฑ์ ประกอบด้วย อาหารหลากหลายเมนู อาทิ  ข้าวกะเพราเนื้อสับ ข้าวเป็ดย่างโฟร์ซีซั่น สปาเก็ตตี้คาโบนารา เกี๊ยวกุ้ง ข้าวกล้องต้มทรงเครื่อง เป็นต้น รวมถึง หน้ากากอนามัยซีพี นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มวิตามินจาก บจก.ซีพี อินเตอร์เทรด ด้วย

ทั้งนี้ ความช่วยเหลือดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของเครือซีพี-ซีพีเอฟที่ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ต้องการให้ทุกบริษัทในเครือร่วมช่วยเหลือสังคมในสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้โครงการ "ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19" ซีพีเอฟ จึงมอบความช่วยเหลือด้านอาหารจากโครงการ "CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19" ด้วยการส่งมอบอาหารปลอดภัยเพื่อทีมแพทย์ในโรงพยาบาลแล้วหลายแห่ง รวมถึง ผู้ยากไร้ในชุมชนแออัด อาทิ ชุมชนคลองเตย

จนถึงปัจจุบัน ซีพีและซีพีเอฟ ได้ส่งมอบอาหารจำนวนกว่า 99,000 แพ็ค ให้โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม 93 แห่ง รวมถึงพื้นที่แออัดและจะยังคงส่งมอบความเชี่ยวชาญนี้ของบริษัทต่อไป เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ "ทีมประเทศไทย" ที่จะก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน

CP-CPF หนุนแพทย์ฉีดวัคซีนให้ประชาชน ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ณ สถานีกลางบางซื่อ

 

(24 พฤษภาคม 2564) นายสรพงศ์ ไพทูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง รับมอบผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เครื่องดื่ม นม และน้ำดื่ม จากเครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือ ภายใต้โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ตลอดจนอาสาสมัคร ในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนราว 10,000 คนต่อวัน โดยมี นายเอกปิยะ เอื้อวุฒิเกริก รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร นายภคิน จุฑาศิลปารัตน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บจ.ซี.พี.อินเตอร์เทรด และ นายธณกร โยธาจิรนนท์ ผู้แทน บมจ.ซีพี ออลล์ ร่วมกันส่งมอบ เพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประเทศไทย ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ 

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า กรมการแพทย์และสถาบันโรคผิวหนัง เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลการให้บริการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ณ สถานีกลางบางซื่อ โดยให้บริการวันละ 10,000 คน แน่นอนว่าต้องอาศัยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครจำนวนมาก  การที่ได้เครือซีพี-ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นมืออาชีพด้านอาหารเข้ามาช่วยสนับสนุนทีมแพทย์ก็ทำให้การเตรียมความพร้อมในด้านนี้ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูง 

นายเอกปิยะ เอื้อวุฒิเกริก รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจการค้าในประเทศ  ซีพีเอฟ กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ ดำเนินมาถึงช่วงที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันหมู่ จึงเป็นที่มาที่ภาครัฐ จัดหาพื้นที่เพื่อทำเป็นจุดฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซีพีและซีพีเอฟ จึงขอแบ่งเบาภารกิจนี้และขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ดังกล่าว โดยนำความเชี่ยวชาญด้านอาหารของเรามาสนับสนุนทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนอาสาสมัครที่ต้องทำหน้าที่ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเรือนหมื่นในแต่ละวัน 

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานของซีพีเอฟที่ส่งมอบให้สถานีกลางบางซื่อ ประกอบด้วย เกี๊ยวกุ้งต้มยำ สปาเก็ตตี้ไก่ครีมซอสเห็ด สปาเก็ตตี้กะเพราไก่ ข้าวน้ำพริกอกไก่ ข้าวอบธัญพืช ข้าวกะเพราไก่ รวมถึง นมเมจิ หลายรสชาติ และผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช MEAT ZERO  นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มวิตามินจาก บจก.ซี.พี. อินเตอร์เทรด และน้ำดื่ม จากซีพี ออลล์ ด้วย

ความช่วยเหลือดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ต้องการให้ทุกบริษัทในเครือซีพีร่วมช่วยเหลือสังคมในสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้โครงการ "ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19" 

ทั้งนี้ วิกฤตโควิด จากวันแรก...ถึงวันนี้ CP-CPF มอบอาหารพร้อมรับประทาน เพื่อบุคลากรทางการแพทย์และพี่น้องคนไทยแล้วหลายล้านแพ็ค รวมถึงน้ำดื่มและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ iMU ตลอดจนวัตถุดิบอาหารสดและเครื่องปรุงรส สำหรับนำไปปรุงอาหาร แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง และจะยังคงส่งมอบความเชี่ยวชาญนี้ของบริษัทต่อไป เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ "ทีมประเทศไทย" ที่จะก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน



วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

วช. สนับสนุน มก. ผลิตเครื่องกะเทาะเมล็ดแมคคาเดเมีย เพิ่มมูลค่า สู่ภาคอุตสาหกรรม

​นักวิจัย คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตเครื่องกะเทาะเมล็ดแมคคาเดเมีย ช่วยสร้างศักยภาพผลผลิตและรายได้ แก่เกษตรกรในพื้นที่สูง โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

​การพัฒนาการกะเทาะผลกะลาแมคคาเดเมียในปัจจุบัน นิยมใช้แบบใบมีดกะแทก โดยใช้แรงงานคนที่มีความชำนาญและใช้เวลานาน สามารถกะเทาะได้ครั้งละ 1 ผล เท่านั้น โดยแมคคาเดเมีย 1 กิโลกรัม จะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ในการกะเทาะ จึงอาจส่งผลให้การผลิตล่าช้าหรือผลผลิตเสียหาย

รองศาสตราจารย์ ดร.ธานี  ศรีวงศ์ชัย หัวหน้าโครงการวิจัยจาก ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้คิดค้นเครื่องกะเทาะเมล็ดแมคคาเดเมีย จากโครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตแมคคาเดเมียอบแห้งสำหรับชุมชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินการพัฒนาเครื่องกะเทาะแมคคาเดเมียที่สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ของคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเขตพื้นที่ บ้านทับเบิก อำเภอหล่มเก่า และ บ้านเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ โดยร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อาทิตย์ เวนติเลเตอร์ เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการการแปรรูปแมคคาเดเมียได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ลักษณะการใช้งาน คือ เมื่อนำผลกะลาแมคคาเดเมียใส่เข้าด้านบนของเครื่องกะเทาะ ผลกะลาแมคคาเดเมียจะตกลงไปภายในเครื่องมีแกนหมุนเพื่อให้ผลกะลาที่ตกลงไปกระทบกับชุดใบมีดสำหรับการกะเทาะผลกะลาให้แตก จากนั้นกะลาและเนื้อในที่แยกออกจากกัน ตกลงสู่ถาดรองรับภายนอกเครื่องกะเทาะและนำไปสู่กระบวนการอื่นต่อไป




รศ. ดร.ธานี กล่าวต่อว่า นวัตกรรมชุดนี้สามารถช่วยย่นเวลาการผลิต ตอบโจทย์ในระดับวิสาหกิจชุมชน อีกทั้ง ได้ผลเมล็ดเต็มของแมคคาเดเมีย ถึงร้อยละ 60 โดยแมคคาเดเมีย 1 กิโลกรัม จะใช้เวลาการกะเทาะประมาณ 30 นาที ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาวิธีการที่จะทำให้ได้เมล็ดเต็มมากขึ้น โดยมีการวางเป้าหมายการขยายผล ไปสู่การสร้างศูนย์เรียนรู้การแปรรูปแมคคาเดเมียสำหรับชุมชน เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปการผลิตแมคคาเดเมียโดยใช้เครื่องกะเทาะแมคคาเดเมีย ให้แก่ ชุมชนและเกษตรกร ให้เกิดรายได้มากขึ้น มีอาชีพใหม่รองรับ และเกิดการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสำหรับการแปรรูปแมคคาเดเมีย และขยายผลต่อไปยังเขตพื้นที่สูงต่าง ๆ



​ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. มีนโยบายสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาของไทยพัฒนานวัตกรรมในด้านต่างๆ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งสามารถผลิตนวัตกรรมเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาด้านต่างๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร สิ่งแวดล้อม  และอื่นๆ ตามความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น นวัตกรรมหลายประเภทสามารถผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์  และอีกหลายโครงการเป็นการวางรากฐานงานวิจัยของไทยให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาว

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

"อว. รายงานผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในคนไทย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากทั้งซิโนแวกและแอสตราซิเนกา"


วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโรคโควิด-19 ทั้งสองชนิดที่ฉีดในคนไทย ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า "ทั้งวัคซีนของซิโนแวก และวัคซีนของแอสตราซิเนกา สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดย 97.26% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกาเข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ และ 99.49% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวกสองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้"


ในการศึกษานี้ ได้ทำการตรวจวัดระดับแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเลือด ด้วยวิธี  Roche Elecsys Electrochemiluminescence lmmunoassay (ECLIA) ซึ่งแบ่งการวิเคราะห์ เป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ 
-กลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด โดยเจาะเลือดหลังจากนั้น 4-8 สัปดาห์ เพื่อดูว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติจะสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่
-กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
-กลุ่มที่ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกา โดยเจาะเลือดก่อนฉีด และหลังฉีดเข็มที่หนึ่งแล้ว 4 สัปดาห์
-กลุ่มที่ฉีดวัคซีนซิโนแวก โดยเจาะเลือดก่อนฉีด, หลังฉีดเข็มที่หนึ่งแล้ว 3 สัปดาห์ และหลังฉีดเข็มที่สองแล้ว 4 สัปดาห์


ผลการตรวจวัดระดับแอนติบอดี และ % ตรวจพบแอนติบอดีในกลุ่มต่างๆ ซึ่งบ่งถึงการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เป็นดังนี้

กรณีที่การติดเชื้อโดยธรรมชาติ
-กลุ่มผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อและไม่ได้ฉีดวัคซีน 0% (ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อ)
-กลุ่มผู้เคยมีการติดเชื้อโดยธรรมชาติ  ตรวจพบแอนติบอดี 92.40% (243 ใน 263 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 60.9 unit/ml


วัคซีนของแอสตราซิเนกา
-ก่อนฉีดวัคซีน 0% (ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อ)
-หลังฉีดเข็มแรก 4 สัปดาห์  ตรวจพบแอนติบอดี 97.26% (71 ใน 73 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 47.5 unit/ml
-ยังไม่มีผลการตรวจหลังฉีดเข็มที่สอง ยังไม่ถึงกำหนดเวลาฉีดเข็มที่สอง


เมื่อวิเคราะห์ตามกลุ่มอายุและตามเพศของผู้ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกาโดยละเอียดแล้ว พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราซิเนกาเข็มแรก เป็นเวลา 4 สัปดาห์นั้น
 (men)-เพศชาย  ตรวจพบแอนติบอดี 93.55% (29 ใน 31 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 32.9 unit/ml
 (women)-เพศหญิง ตรวจพบแอนติบอดี 100% (42 ใน 42 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 62.3 unit/ml

 -กลุ่มอายุ 18-59 ปี ตรวจพบแอนติบอดี 100% (44 ใน 44 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 67.2 unit/ml
 -กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ตรวจพบแอนติบอดี  93.11 % (27 ใน 29 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 28.1 unit/ml

วัคซีนของซิโนแวก
-ก่อนฉีดวัคซีน 0% (ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อ)
-หลังฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์  ตรวจพบแอนติบอดี 65.96% (124 ใน 188 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 1.9 unit/ml
-หลังฉีดเข็มที่สอง 4 สัปดาห์  ตรวจพบแอนติบอดี 99.49% (196 ใน 197 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 85.9 unit/ml
ดังนั้น วัคซีนซิโนแวก สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก โดยเริ่มสร้างแอนติบอดีหลังฉีดเข็มแรก (ระดับยังต่ำ) และเพิ่มมากขึ้นหลังฉีดครบสองเข็ม ซึ่ง 99.49% ของผู้ที่ฉีดครบสองเข็มแล้วสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูงมาก


สรุปว่า วัคซีนทั้งสองชนิดสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดย 97.26% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกาเข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ และ 99.49% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวกสองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

แหล่งข้อมูล: ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนับสนุนการวิจัยโดย : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์

ประมวลข้อมูลโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

#อว. 
#โควิด
#วัคซีน