วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

CSE ร่วมกับ กลุ่มสิงห์อาสา ปันน้ำใจส่งมอบสิ่งของให้อาสาดับไฟป่าเชียงใหม่


บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ CSE รับมอบอุปกรณ์ป้องกันไฟป่าและสิ่งของอุปโภคบริโภคจำเป็น ได้แก่ ถังฉีดน้ำดับไฟ ไม้ตบไฟ คราดสปริง น้ำดื่มสะอาด และข้าวโพดหวานพร้อมรับประทาน ตรา KC จาก กลุ่มกลุ่มสิงห์อาสา บริษัท บุญรอดบริเวอรี่ จำกัด สมาคมนักธุรกิจไทยจีนเชียงใหม่ บริษัท ชอยส์ มินิสโตร์ จำกัด บริษัท เชียงใหม่ทูลส์ จำกัด และบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาดับไฟป่า ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กตำบลสะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ณ อาคารตันตราภัณฑ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564


นายไพรัช โตวิวัฒน์ กรรมการอำนวยการ CSE กล่าวว่า ในนามของคณะกรรมการ CSE มีความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหา สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และชุมชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันไฟป่าเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ป่า และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งนี้ CSE พร้อมเป็นสื่อกลางในการส่งมอบความห่วงใยให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกันไฟป่า และขอขอบพระคุณผู้มีอุปการคุณจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้บริจาคสิ่งของสนับสนุน ของบริจาคเหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานต่อไป




พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ เชิญเที่ยวงาน “รักษ์ทรัพยากรไทย” เรียนรู้ สู่การอนุรักษ์ พันธุกรรมใต้ปฐพี ระหว่างวันที่ 2 – 4 เมษายน นี้

พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชวนเที่ยวงาน “รักษ์ทรัพยากรไทย” ระหว่างวันที่ 2 – 4 เมษายน 2564 ตั้งแต่เวลา เวลา 08.00 – 17.00 น. เรียนรู้พระราชปณิธาน และพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม ผ่านนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นิทรรศการหัว ไหล เหง้า แง่ง แหล่งอาหารใต้ดิน นิทรรศการพันธุกรรมมันพื้นบ้าน นิทรรศการจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ พร้อมด้วยหลักสูตรการอบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการตลอดทั้ง 3 วัน อิ่ม อร่อย ชม ช้อป สินค้าเกษตรอินทรีย์ จากร้านค้าเครือข่ายและภาคีความร่วมมือจากทั่วประเทศ กว่า 200 ร้านค้า ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช จังหวัดปทุมธานี


พลอากาศเอก เสนาะ  พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯเปิดเผยว่า “พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ จัดงานรักษ์ทรัพยากรไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และร่วมสืบสานพระราชปณิธานและเผยแพร่พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน การจัดงานในครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญของการสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปให้รู้จักและหวงแหนทรัพยากร พันธุกรรมท้องถิ่น เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติของไทยมีความสมบูรณ์ มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป โดยขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกท่านที่เข้าร่วมงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้มาร่วมงานทุกท่าน”



นิทรรศการที่พลาดไม่ได้ในงานได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า              กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเผยแพร่พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม ตามด้วยนิทรรศการพันธุกรรมมันพื้นบ้าน นำเสนอเรื่องราวการอนุรักษ์พันธุกรรมมันพื้นบ้านที่มีความหลากหลายทั้งสายพันธุ์ ความมหัศจรรย์ของรูปร่าง สีสัน ขนาด และคุณค่า และการใช้ประโยชน์ตลอดจนเรื่องราวการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชกับวิถีวัฒนธรรม และนิทรรศการหัว ไหล เหง้า แง่ง แหล่งอาหารใต้ดิน จัดแสดงและถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ผู้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างภูมิคุ้มกันด้านอาหารจากพันธุกรรมพืชหัว ประกอบด้วย 7 ฐานการเรียนรู้ พร้อมฝึกปฏิบัติ ได้แก่ ฐานสวยด้วย กินได้ แม้อยู่ใต้ดิน ฐานบุก (เส้น) พืชเด่นกลางป่าฐานใต้ปฐพีมีโปรตีน ฐานพิษหมดไปให้ความอร่อย ฐานสมุนไพรใต้ปฐพี ของดีมากคุณค่า ฐาน 108 พันธุ์ว่าน ตำนานความเชื่อ ฐานปรุงอาหาร ปรุงใจ ใช้พืชหัว 


กิจกรรมพิเศษในวันที่ 2 เมษายน 2564 เปิดบริการเข้าชม พิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำเสนอเรื่องราวของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเพื่อให้เข้าใจถึงคุณค่า ความหมาย ความสำคัญ สะท้อนความหลากหลายของพันธุกรรม อันเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าและประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ            ผ่านเทคโนโลยี แสง สี เสียง ที่ทันสมัย



กิจกรรม เพาะ แจก แลก เปลี่ยน พันธุกรรมพืช กิจกรรมพิเศษสำหรับเดือนเมษายน ส่งเสริมการอนุรักษ์และส่งต่อพันธุกรรมพื้นบ้าน สู่คนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่สนใจ นำภาชนะเหลือใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นแก้ว ขวด มาเพาะพันธุ์ไม้กลับบ้าน 


อบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายวิชาของแผ่นดิน และอบรมเชิงปฏิบัติการ อาทิ หลักสูตร“ไม้” มีค่ามากกว่าทอง โดย ดร.เกริก มีมุ่งกิจ วนเกษตรเขาฉกรรจ์จ.สระแก้ว หลักสูตรนวัตกรรมปลูกผักในพื้นที่น้อย โดยอาจารย์คมสัน หุตะแพทย์ สวนผักบ้านคุณตา กรุงเทพฯ หลักสูตรเลี้ยงไส้เดือนบนแปลงผักยกแคร่ โดยอาจารย์ชาตรี ต่วนศรีแก้ว ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง หลักสูตรสมุนไพรไทยสร้างภูมิต้านโรค โดยรศ.ดร.ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ กรุงเทพฯ หลักสูตรปลูก เพาะ ชำ พันธุกรรมพืช โดยอาจารย์วีรยุทธ ศรีเลอจันทร์ สวนเพชรพิมาย จ.นครราชสีมา หลักสูตรชีสเค้กมันม่วง โดยอาจารย์สุพัตรา อุสาหะ กรุงเทพฯ หลักสูตรผิวสวยด้วยผงถั่วเขียว โดยอาจารย์สุกัญญา หล่อตระกูล เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.ชัยนาท และอีกหลายวิชาที่น่าสนใจจากวิทยากรผู้มากความรู้และประสบการณ์



ชม ช้อปตลาดเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สินค้า ผลผลิตเกษตรปลอดภัยที่             คัดสรรมาให้เลือกซื้อ สมุนไพรไทย ต้นไม้นานาพันธุ์ผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งหุ่ม รวมถึงอาหารพื้นบ้านคาวหวานทั้ง 4 ภาคที่มากด้วยคุณภาพจากผู้ผลิต ราคาเป็นกันเอง กว่า 200 ร้านค้า



แวะถ่ายรูป เช็คอิน ที่เส้นทางสืบสาน รักษา ต่อยอด wisdom farm เดินชมบัวนานาสายพันธุ์  บนสะพานไม้ไผ่ เรียนรู้วิถีเกษตรไทยที่บ้านเรือนไทย 4 ภาค สนุกสนานกับการทำนาโยนกล้า ดื่มด่ำเพิ่มความสดชื่นกับกาแฟอินทรีย์ที่ร้าน wisdom café ทั้งนี้ขอความร่วมมือทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อทุกท่านจะได้เข้ามาท่องเที่ยว เรียนรู้อย่างปลอดภัย 

สอบถามเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์ 02-529-2212-13, 087-359-7171 พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ อยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช (นวนครเดิม) ริมถนนพหลโยธิน กม.46-48 จ.ปทุมธานี หรือทาง www.wisdomking.or.thLineID:@wisdomkingfan ทาง Facebook.:.พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

กอ.รมน. จับมือ วช. มุ่งสร้างตำบลต้นแบบ 15 จังหวัด ผ่านปราชญ์เพื่อความมั่นคง และเครือข่ายภาคประชาชน ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม


กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งกลุ่มมวลชน ปราชญ์เพื่อความมั่นคงและภาคประชาชน โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างอาชีพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม อันสอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 







วันที่ 30 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. ที่ ชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก พลเอกวรเกียรติ รัตนานนท์ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสริมสร้างปราชญ์เพื่อความมั่นคงและเครือข่ายภาคจังหวัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมเยี่ยมชมผลงานผลิตภัณฑ์การเกษตร จากเครือข่ายภาคประชาชนในหลายจังหวัด กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคความมั่นคง และภาคการวิจัย ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ปราชญ์เพื่อความมั่นคง และเครือข่ายภาคจังหวัด ซึ่งเป็นฐานสำคัญของประเทศในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ด้านความมั่นคงของชาติ การพัฒนาปราชญ์ พัฒนาชุมชนต้นแบบ นำสู่ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2564



สำหรับการดำเนินงาน ศปป.1 กอ.รมน. ได้คัดกรององค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาในพื้นที่ 61 ชุมชน ใน 21 จังหวัด และ วช. ได้คัดกรององค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดขยายผลและสอดคล้องกับบริบทความต้องการของพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 11 องค์ความรู้/เทคโนโลยี  ซึ่งในระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2562 วช. ได้สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพชุมชนให้มีความเข้มแข็งตามโจทย์ความต้องการของพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป้าหมายของ กอ.รมน. จำนวน 231 ชุมชน ซึ่งชุมชนได้กำหนดความต้องการไว้ 5 เทคโนโลยี 







ปีงบประมาณ 2563 เป็นการดำเนินงานระยะที่ 2 ระยะนี้ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และตั้งเป้าให้เป็นชุมชนต้นแบบนำวิจัยและนวัตกรรมมาปรับวิถีชีวิตเป็นชุมชนเข้มแข็ง ในปีงบประมาณ 2564 นี้ วช. และ ศปป.1 กอ.รมน. ได้มีเป้าหมายสร้างตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ต้นแบบ ใน 15 จังหวัด โดยดำเนินการตามนโยบายบูรณาการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของทั้งสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (สยย.) กอ.รมน. ร่วมด้วย ศปป.1 กอ.รมน. และ ศปป. 4 กอ.รมน ซึ่งได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายระดับตำบล ให้สอดคล้องกับการนำงานวิจัยและนวัตกรรม ไปช่วยในการยกระดับศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนและตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ตลอดจนสามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ได้





โดยการส่งมอบงานวิจัยและนวัตกรรม ผ่านศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 (ศปป.4) ในการขยายผลเทคโนโลยี เรื่อง “เครื่องวัดข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซ็นเซอร์เชื่อมต่อข้อมูลด้วยระบบสถาปัตยกรรมเน็ตเวิร์คอัจฉริยะ” ในพื้นที่ทำงานของ กอ.รมน. จังหวัด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภาค ในปี 2563 และในปี2564 มีแผนขยายผลนวัตกรรมเรื่อง “ถังหมักประสิทธิภาพสูงเพื่อการจัดการขยะอินทรีย์ในระดับชุมชน” โดยขยายผลเทคโนโลยีในพื้นที่ดูแลของ ศปป.4 กอ.รมน. ให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค ใน 22 พื้นที่ 14 จังหวัด และศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กอ.รมน. ในการขยายผลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เรื่อง เสื้อเกราะกันกระสุนน้ำหนักเบาที่ผ่านมาตรฐานสากลระดับ NIJ III (NIJ 3) ในพื้นที่การดูแลของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) และกองทัพภาคที่ 4