วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

อธิบดีปศุสัตว์ ลุยปราบขบวนการค้าม้าเถื่อน ส่งออกต่างประเทศ ป้องกาฬโรคม้าระบาดซ้ำ


นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าสั่งการชุด ปฏิบัติการ พิเศษ พญาไท ภายใต้การควบคุมของนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจสอบตามข้อร้องเรียนมีการเคลื่อนย้าย-ค้าสัตว์ผิดกฎหมาย (ม้า) ในพื้นที่จังหวัด ลำปาง โดยชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท ร่วมกับ กองบังคับการ ปราบปราม การ กระ ทำ ความผิด เกี่ยวกับ การ คุ้มครอง ผู้บริโภค (กก.1 บก. ปคบ.) และมูลนิธิ วอชด็อกไทยแลนด์    ได้ร่วมประชุมวางแผนการควบคุมดูแล และตรวจสอบ การเคลื่อนย้ายม้า กับ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัด ลำปาง และผู้เกี่ยวข้อง ก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการป้องโรคกาฬโรคม้า กลับมาระบาดซ้ำด้วย

ต่อมาได้ลงตรวจสอบบ้าน นายสุรกิจ เสาร์ ใจ เลขที่ 761 หมู่ 3 ต.ต้นธงชัย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง พบเป็นสถานที่เลี้ยงม้า และจำหน่ายม้า อีกทั้งยังเปิดสอนการขี่ม้าและฝึกม้าเพื่อใช้งาน พบมีม้าอยู่จำนวน 11 ตัว แบ่งเป็น เพศผู้จำนวน 5 ตัว เพศเมีย จำนวน 6 ตัว มีสมุดประจำตัวม้า (NID) อยู่ 5 เล่ม แต่มีม้าตรงกับสมุดประจำตัวม้า (NID) อยู่ 3 ตัว ซึ่งมี 1 ตัว นำไปผสมพันธุ์ อยู่ที่จังหวัดระยอง และอีก 1 ตัว นำไปใช้งานอยู่ในตัวเมือง ส่วนม้าอีก 7 ตัว ไม่มีสมุดฯ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ได้แจ้งให้ดำเนินการขึ้นทะเบียน ประจำตัวม้าในทันที

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจสอบ เอกสารการเคลื่อนย้ายม้า พบมีการเคลื่อนย้ายมาจากจังหวัด สุพรรณบุรี และขอตรวจเอกสารการค้าสัตว์ประเภทม้า แต่ไม่สามารถ นำมาแสดงได้  จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ดังนี้ ไม่สามารถ แสดงใบอนุญาต ค้าสัตว์หรือซากสัตว์ (ร.10) มีความผิดตาม พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ

ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไทได้ทำการอายัดม้าไว้ จำนวน 1 ตัว เนื่องจากไม่มีสมุดประจำตัวม้า ไม่มีเอกสารใบเคลื่อนย้าย และผลแลป มายืนยันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 

นอกจากนี้ลงตรวจสอบ บ้าน นายนคร วงศ์คำ เลขที่ 581 หมู่ 2 ต.ต้นธงชัย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง

พบเป็นสถานที่เลี้ยงม้า และจำหน่ายม้า มีม้าจำนวน 8 ตัว แบ่งเป็น เพศผู้จำนวน 4 ตัว เพศเมีย จำนวน 4 ตัว ม้าทุกตัวไม่มีสมุดประจำตัวม้า (NID) พนักงาน เจ้าหน้าที่ ได้ให้ดำเนินการขึ้นทะเบียน ประจำตัวม้าในทันที เจ้าหน้าที่ ชุด ปฏิบัติการ พิเศษ พญาไท ขอตรวจเอกสารการค้าสัตว์ประเภทม้า แต่ไม่สามารถ นำมาแสดงได้  จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ดังนี้

ไม่สามารถ แสดงใบอนุญาต ค้าสัตว์หรือซากสัตว์ (ร.10)มีความผิดตามพรบ.โรคระบาดสัตว์ โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ ประเด็นม้าที่ขนย้ายไปด่านมุกดาหาร จำนวน 44 ตัว ของนายนคร วงศ์ คำ มีการขายและขนส่งม้า มาแล้วจำนวน 2 ครั้ง

โดยครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 ได้เคลื่อนย้ายม้าไปยังด่านมุกดาหาร และส่งออกขายไปยังประเทศ ลาว โดยผ่านวิธีการศุลกากร ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อสังเกต ภายในพื้นที่พักสัตว์ของนายสาคร ไม่มีพื้นที่คอกพักสัตว์ ที่สามารถพักม้าได้จำนวนมาก จึงตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นการไปรับซื้อม้าตามบ้าน และสนามม้าแข่งในจังหวัดใกล้เคียง และรวบรวมเพื่อนำไปจำหน่ายในนามสมาคมผู้เลี้ยงม้าลำปาง และส่งต่อให้กับบริษัทเอกชน(ห้างหุ้นส่วนจำกัดพีเอ็ม เซอร์วิสเซส) เพื่อนำม้าชุดดังกล่าวส่งออกต่างประเทศ

“เฉลิมชัย“ มอบหมาย"อลงกรณ์"ประชุมบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี2564 “ฟรุ้ตบอร์ด”(Fruit Board)ทุ่มงบกว่า400ล้านเร่งพัฒนาและรับมือผลไม้ฤดูกาลใหม่บุกตลาดออนไลน์ออฟไลน์ ปรับแผนโลจิสติกส์เพิ่มขนส่งทางรางสู่เอเซียและยุโรป พร้อมเร่งปั้นนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ดึงAICและส.อ.ท.ร่วมขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาผลไม้ไทยอย่างยั่งยืน


เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 2/2564  ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทินกร อ่อนประทุม คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ ฯ และคณะกรรมการ ประชุมทางไกลออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM  Application 

นายอลงกรณ์ เปิดเผยว่าการประชุมครั้งนี้ได้ย้ำถึงแนวทาง5ยุทธศาสตร์15 ตามนโยบายหลักของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการบริหารงานปี2564และขอให้ใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการทำงานยุคโควิด19ต่อคณะกรรมการ fruit board โดยมอบหมายฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯประสานการจัดทำแผนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานผลไม้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำจากสวนถึงผู้บริโภค รวมทั้งปรับแผนโลจิสติกส์(logistics plan)ระบบการขนส่งกระจายผลไม้ทั้งในและต่างประเทศโดยเพิ่มแผนขนส่งทางรางเชื่อมไทยเชื่อมโลกเชื่อมทางรถไฟจีนที่ลาวและที่ด่านผิงเสียงชายแดนเวียดนามสู่ตลาดจีนเกาหลี รัสเซีย มองโกเลีย เอเซียกลาง ตะวันออกกลางและยุโรป แผนการวิจัยและพัฒนาผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทานใช้วิทยาการสมัยใหม่และเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนสร้างมูลค่าเพิ่มแผนแรงงาน  แผนระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค แผนสื่อสารประชาสัมพันธ์และการตลาดโดยให้เร่งนำเสนอต่อที่คณะกรรมการฯ พิจารณาในการประชุมคราวหน้า เป็นการปรับกลยุทธ์การทำงานต่อเนื่องจากฤดูกาลผลิตปีที่แล้วเพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด19ปีที่2และรับมือกับผลผลิตผลไม้ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้กว่า24%จากรายงานการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ทั้งนี้ ที่ประชุมฟรุ้ทบอร์ดได้เห็นชอบโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลไม้ ปี 2564  งบประมาณ 492 ล้านบาท และมอบหมายกรมการค้าภายในนำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรพิจารณาให้ความเห็นชอบในต้นเดือนกุมภาพันธ์ต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย กิจกรรมสนับสนุนด้าน (1) การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตและการเชื่อมโยงการจำหน่ายช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก (2) การเพิ่มช่องการจำหน่าย (3) การรวบรวมรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งออก (4) การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และรณรงค์การบริโภคผลไม้” ซึ่งเป็นมาตรการรองรับสำหรับการบริหารจัดการรวมทั้งปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงรุกล่วงหน้าอาทิ ปัญหาผลผลิตออกมาพร้อมกันในช่วงต้นฤดูร้อน ปัญหาโลจิสติกส์การขนส่งผลไม้ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือจากค่าบริการที่เพิ่มขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลน ปัญหาแรงงาน และประเด็นความเชื่อมั่นของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดจีนกรณีการปนเปื้อนโควิด19ของสินค้าเกษตรที่จีนนำเข้าจากบางประเทศจึงต้องเพิ่มมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)รวมถึงมาตรการเพิ่มการสื่อสารเชิงรุกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศพร้อมกับประชาสัมพันธ์และทำการตลาดล่วงหน้าออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ยังให้ส่งเสริมการแปรรูปผลไม้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสนับสนุนให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกโดยประสานงานกับศูนย์AICทุกจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ร่วมขับเคลื่อน         

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเพิ่มจำนวนครัวเรือนเป้าหมายเกษตรกรในโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 จาก 202,013 ครัวเรือน เป็น 202,173 ครัวเรือน โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 วงเงินงบประมาณ 3,440,049,735 บาท และขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการฯ จากเดิม 31 มกราคม 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2564 เพื่อให้การดำเนินการเยียวยาชาวสวนลำไยในส่วนที่ยังตกหล่นครบถ้วนถูกต้องเป็นธรรมโดยจะนำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ต่อไป ส่วนการโอนเงินเยียวยาตามมติครม.25สิงหาคมนั้นธกส.รายงานว่าโอนเสร็จแล้วกว่า99%เหลือเฉพาะเกษตรกรที่ติดขัดปัญหาไม่กี่ร้อยรายจาก2แสนราย 

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังรับทราบรายงานโครงการกระจายผลไม้ Pre – order โดย ประธานคณะอนุกรรมการ E- commerce ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤชฐา โภคาสถิต) และการนำเสนอแผนงานของสมาคมทุเรียนไทยในการส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยในช่วงการระบาดของ Covid -19 พร้อมทั้งจัดทำคลิปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคทุเรียนไทย "กินทุเรียนไทย มั่นใจปลอดไวรัส covid - 19 " เป็นภาษาจีน-ไทย-อังกฤษโดยขอให้ช่วยเผยแพร่ในตลาดเป้าหมายด้วย

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ช่วงวิกฤตการณ์ COVID – 19 ที่ผ่านมานั้น ในประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 1/2564 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 – 2566 ซึ่งเป็นแนวทางบริหารจัดการผลไม้ในระยะปานกลาง (3 ปี) ที่เน้นความสอดคล้องตามยุคสมัยปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารที่อำนวยความสะดวกมากขึ้นในยุค 4.0 ตลอดจนให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID – 19 โดยเน้นช่องทางการซื้อขายออนไลน์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระจายได้สูง เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิถีการขายแบบใหม่ ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง โดยให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ทุกจังหวัดส่งเสริมและสนับสนุนอำนวยความสะดวกเกษตรกรในพื้นที่ให้สามารถกระจายผลผลิตด้วยวิธีการค้าออนไลน์ให้มากขึ้นต่อไป เน้นการป้องกันตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง การเก็บเกี่ยวและการจัดการในสวนผลไม้จนถึงการขนส่งไปยังผู้บริโภคให้มีการปฏิบัติที่ปลอดภัย

ซีพีเอฟ เตรียมพร้อมนำ ฟาร์มวังสมบูรณ์ ขอรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เคจฟรีของกรมปศุสัตว์

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศ ฟาร์มวังสมบูรณ์ ใน จ.สระบุรี  พร้อมขอรับรองมาตรฐานไข่ไก่แบบไม่ใช้กรง หรือ เคจฟรี จากกรมปศุสัตว์ เพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรที่สอดคล้องตามความต้องการของตลาดโลกในอนาคต และช่วยยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคคนไทย 


นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การที่กรมปศุสัตว์มีการรับรองมาตรฐานไข่ไก่แบบไม่ใช้กรง (Cage Free) อย่างเป็นทางการ นับเป็นก้าวสำคัญของภาคการผลิตไข่ไก่ของไทย ส่งผลดีต่อผู้บริโภค และเกษตรกร ช่วยยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยของไทย และช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ใช้กรงเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ ซีพีเอฟ เตรียมนำฟาร์มวังสมบูรณ์ เข้าขอรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง ของกรมปศุสัตว์ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในการผลิตไข่ไก่สู่ระดับสากล  ร่วมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ มีความปลอดภัยสูงสุด ให้ผู้บริโภคที่มีแนวโน้มต้องการสินค้าที่คำนึงถึงสุขภาพและแหล่งที่มาของสินค้าที่ปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้น 


“การได้รับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (เคจฟรี)โดยกรมปศุสัตว์ ช่วยเพิ่มทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพให้ผู้บริโภค จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณไข่ไก่เคจฟรีแบรนด์ CP Selection Cage Free Egg มากยิ่งขึ้น” นายสมคิดกล่าว 

ซีพีเอฟพัฒนาฟาร์มวังสมบูรณ์ ในจังหวัดสระบุรี ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอิสระไม่ใช้กรงในโรงเรือนระบบปิด ตั้งแต่ปี 2561 โดยมีการประยุกต์ใช้มาตรฐานของสหภาพยุโรปเป็นต้นแบบ ในการเลี้ยงแม่ไก่ไข่แบบธรรมชาติภายในโรงเรือนระบบปิดขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิและการระบายอากาศอย่างเหมาะสม มีวิธีการเลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare โดยแม่ไก่ไข่มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขอนามัยที่ดี มีที่อยู่สะดวกสบาย ได้รับอาหาร-น้ำอย่างเพียงพอ และแม่ไก่มีอิสระแสดงพฤติกรรมได้ตามธรรมชาติ หรือ มี “ความสุขกาย สบายใจของสัตว์” ตามหลักการ 5 ประการ (Five Freedoms of Animals) ส่งผลให้แม่ไก่ไข่มีสุขภาพดีและมีอารมณ์ดี มีความสุขสบาย แข็งแรง ที่สำคัญไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง 

 ฟาร์มวังสมบูรณ์ มี 12 โรงเรือน แม่ไก่ไข่ถูกเลี้ยงแบบธรรมชาติบนพื้นที่ 1 ตารางเมตรต่อแม่ไก่ 7-9 ตัว จัดสภาพแวดล้อมให้ถูกต้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ส่งเสริมให้แม่ไก่ไข่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ เช่น มีคอนสำหรับเกาะพักผ่อน มีวัสดุปูรองพื้นเพื่อใช้สำหรับคุ้ยเขี่ยหาอาหาร และไซร้ขนทำความสะอาดตัวเอง มีจุดสำหรับวางไข่ที่ควบคุมการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ และใช้สายพานลำเลียงไข่จากจุดวางไข่ของแม่ไก่ไปยังห้องเก็บไข่โดยอัตโนมัติ ควบคู่กับการจัดการระบบสุขาภิบาลภายในฟาร์มที่ดี ควบคุมและป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ไข่ไก่เคจฟรีของซีพีเอฟ จึงได้รับรองมาตรฐานการปลอดเชื้อซัลโมเนลล่า ตั้งแต่โรงฟักไข่ แม่ไก่พันธุ์ จนถึงแม่ไก่ไข่รุ่น เพื่อให้ได้ไข่ไก่ที่ปลอดภัย มีคุณภาพ ปลอดสาร 

นอกจากนี้ การเลือกใช้แม่ไก่ไข่สายพันธุ์พิเศษ รวมถึงพัฒนาสูตรอาหารผลิตจากธัญพืช 100% ช่วยให้ไก่ที่มีสุขภาพพื้นฐานดี เติบโตตามศักยภาพของพันธุกรรมธรรมชาติ ช่วยให้ไข่ไก่เคจฟรีมีความสดกว่าไข่ไก่ทั่วไป ไม่มีกลิ่นคาวไข่แดงมีสีส้มสด นูนสวย เป็นไข่ไก่มีคุณภาพ ปลอดสาร และมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงได้รับการตอบรับที่ดีมากจากร้านอาหารชั้นนำ อย่าง ร้านชาบูชาบู โมโม พาราไดซ์ โดยเฉพาะร้านเจ๊ไฝ สตรีทฟู้ดชื่อดังที่ใช้เป็นวัตถุดิบของเมนูไข่เจียวปู นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถหาซื้อไข่ไก่เคจฟรี ซีพีเอฟ ได้ที่ ร้านซีพี เฟรชมาร์ท 7-Eleven ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ริมปิง จ.เชียงใหม่ และห้างดองกิ ดองกิ  

ซีพีเอฟ มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์ด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Farming and Food Production) อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารสู่ระดับสากล เพื่อการบริโภคที่ยั่งยืน

"เฉลิมชัย” นำทีม แจงคณะกรรมาธิการสภาฯ ถึงขั้นตอนการบริหารจัดการปริมาณและผู้เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่ (P.S) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกด้าน

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และน.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์  และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (ผส.) อาคารรัฐสภาถึงเรื่องการบริหารจัดการปริมาณและจำนวนผู้เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่(P.S.) พร้อมรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

นายเฉลิมชัย เปิดเผยว่า สำหรับการบริหารจัดการอุตสาหกรรมไก่ไข่ทั้งระบบเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์หรือเอ้กบอร์ด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นเลขานุการ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยง และผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 21 ท่านมาร่วมเป็นองค์ประกอบคณะกรรมการฯ รวมถึงยังมีคณะอนุกรรมการฯที่เกี่ยวข้องอีก 4 คณะ ร่วมกันพิจารณาและบริหารจัดการให้เกิดความรอบครอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการ Egg Board ได้ยึดหลักการพัฒนาและบริหารจัดการไก่ไข่ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยให้ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกรเพื่อความเข้มแข็ง สร้างความสมดุลการผลิตไข่ไก่กับความต้องการบริโภค ป้องกันการเกิดราคาไข่ไก่ผันผวน เพิ่มอัตราการบริโภคและส่งเสริมการแปรรูปไข่ไก่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมาตรฐานการผลิตไข่ไก่ให้ได้คุณภาพ

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาตัดสินใจในเรื่องใดๆของคณะกรรมการเอ้กบอร์ดนั้น จะต้องผ่านคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาตัดสินใจด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่าภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ จะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างทั่วถึงเป็นธรรม หากเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่นการกระจายพันธุ์ไก่ไข่อย่างไม่เป็นธรรมจากผู้ประกอบการเลี้ยง พ่อ-แม่พันธุ์ หรือการขายพันธุ์ไก่ไข่พ่วงอาหารสัตว์ สามารถแจ้งมายังกรมปศุสัตว์ หรือกระทรวงเกษตรฯ เพื่อจะได้ดำเนินการตามมาตรการที่เอ้กบอร์ดกำหนดไว้อย่างเข้มงวด และหากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องการเลี้ยงพ่อ-แม่พันธ์ุด้วยตนเอง สามารถยื่นเรื่องผ่านทางกรมปศุสัตว์เพื่อนำเข้าพิจารณาตามขั้นตอนและข้อกำหนดเพื่อให้เอ้กบอร์ดพิจารณา ต่อไป

กรมหม่อนไหมพัฒนาองค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร ต่อยอดงานวิจัยการผลิตถั่งเช่าไหมไทยตามหลักวิชาการอย่างปลอดภัย เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารป้อนสู่ตลาดคนรักสุขภาพ


          นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ (ศมม.เชียงใหม่) ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร "การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมไทยเพื่อผลิตเป็นถั่งเช่าไหมไทย" ให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านขุนแตะ ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ต.หนองควาย อ.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมไทยเพื่อผลิตเป็นถั่งเช่าไหมไทยแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร ให้สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการผลิตถั่งเช่าไหมไทย สร้างรายได้ สร้างอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยดำเนินการภายใต้มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดเชียงใหม่อย่างเคร่งครัด       


 ทั้งนี้การผลิตถั่งเช่าไหมไทย เป็นความสำเร็จจากการศึกษาวิจัย ระหว่างกรมหม่อนไหม ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เมื่อปี 2556 และได้รับอนุสิทธิบัตรการผลิตถั่งเช่าไหมไทย เมื่อปี 2558  โดยการผลิตถั่งเช่าไหมไทยนั้น เป็นการนำผลผลิตจากไหม (ดักแด้ไหมไทย) มาเพิ่มมูลค่าโดยแปรรูปเป็นถั่งเช่า เรียกว่าถั่งเช่าไหมไทย เป็นเห็ดที่เจริญบนดักแด้ไหม ประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิด เช่น อะดีโนซีน (Adenosine) คอร์ไดเซปิน (Cordycepin) และสารหลายชนิด มีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพิ่มการไหลเวียนของเลือด อีกทั้งยังสามารถป้องกันรังสี UVB และช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ 


 เพื่อเป็นการตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค กรมหม่อนไหมได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังในหนู พบว่าสามารถบริโภคด้วยปริมาณ 5,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนัก นอกจากนี้ การบริโภคอย่างต่อเนื่องในปริมาณ 1,100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักต่อวัน พบว่าไม่มีผลต่อสุขภาพและอวัยวะต่าง ๆ ของหนูที่ทดสอบแต่อย่างใด ดังนั้น ถั่งเช่าไหมไทยจึงเหมาะสมที่จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารป้อนสู่ตลาดผู้รักสุขภาพ

  ส่วนการที่จะดูว่าถั่งเช่านั้นๆ เป็นถั่งเช่าแท้หรือปลอม ดูได้จากค่าวิเคราะห์คอร์ไดซิปินกับอะดีโนซินเป็นหลัก ซึ่งแหล่งซื้อขายถั่งเช่าในเมืองไทยขณะนี้ส่วนใหญ่ขายถั่งเช่าสีทองและถั่งเช่าหิมะบ้างบางแห่ง โดยจำหน่ายเป็นแคปซูล และชาถั่งเช่า ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองอยู่หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยงบนอาหารอื่นที่ไม่ใช่หนอนไหม หรือดักแด้ไหม เช่น เลี้ยงบนข้าวกล้อง หรือข้าวสาลี หรือข้าวบาร์เล่ย์ ซึ่งถั่งเช่าที่ผลิตจากดักแด้ไหมนั้นจะมีราคาสูงกว่าถั่งเช่าที่ผลิตจากอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดอื่น

 "กรมหม่อนไหมยังคงพัฒนาการผลิตถังเช่าโดยคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และความปลอดภัยด้านสุขภาพเป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปหม่อนไหมที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิตอีกด้วย" นายปราโมทย์ กล่าว

  อย่างไรก็ตามสำหรับ ผู้สนใจสามารถ สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม โทรศัพท์ 0 2558 7924-6 ต่อ 404 หรือ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ 05 3114 096-7

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

เกษตรฯ” จับมือสภาอุตสาหกรรมฯ ผนึก AIC เดินหน้าปั้นนิคมอุตสาหกรรมเกษตร(Agroindustry) 18 กลุ่มจังหวัด ดึง “กนก อภิรดี-ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์” นักบริหารมืออาชีพเสริมทัพขับเคลื่อนเริ่มต้นเฟสแรก 8 กลุ่มจังหวัด

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.)เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรฯ นั้น คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ได้จัดการประชุมครั้งที่ 1/2564 มีมติเห็นชอบโครงการ “หนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัด” โดยจะส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตร (Agroindustry) 18 แห่ง ใน 18 กลุ่มจังหวัดทุกภาค เพื่อเป็นฐานการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรตามศักยภาพของแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยผนึกความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกร  เช่นสภาเกษตรกรแห่งชาติ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เป็นต้นมีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ ศูนย์ AIC ทุกจังหวัด ร่วมขับเคลื่อนในโครงการนี้ โดยได้นักบริหารมืออาชีพระดับประเทศมาเสริมทัพเป็นประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร คือ ดร.กนก อภิรดี อดีตประธานธนาคารเอสเอ็มอี และผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย นอกจากนี้ กรกอ. ยังมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) สู่ธุรกิจอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ตามที่สภาอุตสาหกรรมฯ (ส.อ.ท) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เสนอโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

ทั้งนี้ “กรกอ.” ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการและกิจกรรมอีกหลายเรื่องได้แก่ 1. “โครงการอุตสาหกรรมไก่ฮาลาลครบวงจรภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล โดย ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมสินค้าและผลิตผลเกษตรมาตรฐานฮาลาล ผลิตภัณฑ์อาหารโดยจะมีการลงนามความร่วมมือที่จังหวัดยะลาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564     2. รายงานความก้าวหน้าโครงการอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ว่าด้วยโปรตีนจากพืช (Plant based protein) ซึ่งเป็นโปรตีนทางเลือกใหม่ โดย นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานบริษัท NRF และผู้แทน WEF (World Economic Forum) ซึ่งพร้อมส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชโปรตีน เช่น ถั่วเขียวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในรูปเกษตรแปลงใหญ่ (Big Farm)    3. รายงานสถานการณ์และแนวโน้มอนาคตของอุตสาหกรรมเกษตรและโครงการ Food Valley โดย นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ อดีตผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และอดีตผู้อำนวยการสถาบัน 4. รายงานการส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech & Innovation) โดย นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน AIC 5. รายงานเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ด้านแคตตาล็อคนวัตกรรมเกษตร (Innovation Catalogue) โดย ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานอนุกรรมการเกษตรอัจฉริยะ  6. รายงานความก้าวหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรอาหาร โดย บริษัท เมืองอุตสาหกรรม อุดรธานี จํากัด  7. รายงานแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรแนวอัตลักษณ์ (4DNA) และโครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อการเพิ่มมูลค่าเชิงทวีคูณภายใต้แนวคิดการใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Economy Creation) เพื่อการพัฒนาการเกษตร โดย ผช.ศจ.เอกพงษ์ ตรีตรง คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และอดีตคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ 8. รายงานแนวทางการส่งเสริมอาหารเสริมและยาด้วยสมุนไพรไทยสำหรับปศุสัตว์ โดย ดร.สิทธิชัย        แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ที่ประชุม กรกอ. ได้พิจารณาเห็นว่าภายใต้วิกฤติการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปัญหาและโอกาสจึงต้องมีแนวทางและแผนการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร (Food & Agroindustry Transitional Master Plan) เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทยโดยเฉพาะเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรอาหาร จึงมีมติให้ นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางและแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร (Food & Agroindustry Transformation subcommittee) โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเครือข่ายคลัสเตอร์ เกษตรอาหาร โดยเชื่อมโยงการพัฒนาตลอดห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร เริ่มตั้งแต่ ต้นทาง คือ การจัดหาวัตถุดิบ การปรับปรุงพันธุ์ การผลิต การพัฒนาระบบมาตรฐานเกษตรและอาหารโดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยและแม่นยา กลางทาง คือ การแปรรูป การพัฒนาเทคโนโลยี บรรจุภัณฑ์ ปลายทาง คือ การส่งเสริมการการตลาด การสร้างแบรนด์ การบริการและการขนส่ง โดยตลอดกระบวนการผลิต จะเน้นการนำผลงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยของภาครัฐและเอกชนและศูนย์ AIC มาต่อยอดให้มูลค่าเศรษฐกิจเกิดผลเชิงพาณิชย์

สำหรับโครงการหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัดนั้น มีอย่างน้อย 8 กลุ่มจังหวัดที่กำลังดำเนินการและอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ ได้แก่ 1. กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 2. กลุ่มจังหวัดอีสานตอนกลาง  3. กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง 4. กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 5. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (อีอีซี.) 6. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (กลุ่มล้านนา) 7. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และ 8. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง

อย่างไรก็ตาม กรกอ.จะเร่งดำเนินการตามมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ในการสนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งขนาดเล็กขนาดกลางขนาดใหญ่ให้ครบทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อสร้างระบบการแปรรูปสินค้าเกษตรเชิงโครงสร้างทั่วประเทศเป็นกระจายการลงทุน การสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจภายในประเทศและกระจายโอกาสสร้างความสมดุลในการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงเกษตรและส.อ.ท.”

สำหรับการประชุมของ กรกอ. ครั้งที่ 1/2564 มีผู้เข้าร่วมประชุม ดังนี้ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร นายสมัย ลี้สกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางสาวปภาวี สุธาวิวัฒน์ รองประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร นายกนก อภิรดี นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานคณะอนุกรรมการเกษตรอัจฉริยะ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการธุรกิจเกษตร (Agri-Business) และตัวแทนหน่วยงานกระทรวงที่เกี่ยวข้อง นำโดย นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสภาอุตสาหกรรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2563 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านระบบประชุมทางไกล Application Zoom

กรมส่งเสริม วอนเกษตรกร เร่งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2564 เพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนการผลิต การตลาด และส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง

กรมส่งเสริม วอนเกษตรกร เร่งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2564 เพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนการผลิต การตลาด และส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรได้อย่างถูกต้องเพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ วางเป้าเกษตรกรด้านพืชขึ้นทะเบียน จำนวน 5.7 ล้านครัวเรือน 

        นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนการผลิต การตลาด และส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรได้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงใช้ในการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ สำหรับในปี 2564 กรมฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เน้นหนักในการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบและติดตามเกษตรกรให้แจ้งข้อมูลการเกษตรอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ครบถ้วน เพื่อเก็บข้อมูลการเพาะปลูกพืชนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตร พร้อมทั้งประมวลผลข้อมูลการจัดทำสารสนเทศด้านการเกษตรในภาพรวมของประเทศที่ถูกต้อง สามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่บูรณาการใช้ประโยชน์ได้ทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชน โดยวางเป้าหมายไว้ จำนวน 5.7 ล้านครัวเรือน


โดยขณะนี้ใกล้เข้าสู่ฤดูกาลผลิต ปี 2564 พบว่า มีผู้มาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรแล้ว จำนวน 1,037,976 ครัวเรือน 2,116,273 แปลง พื้นที่เพาะปลูก 14,792,249.55 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 18.21 (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ม.ค. 2564) ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งความช่วยเหลือและสิทธิประโยชน์ตามโครงการที่หน่วยงานภาครัฐได้จัดทำขึ้น ได้แก่ โครงการประกันรายได้พืช 4 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเงินช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ก่อนในเบื้องต้น

          ด้านนายสัมฤทธิ์ เทวะภูมิ ผู้อำนวยการกลุ่มทะเบียนเกษตรกร ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับกรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เกษตรกรสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้หลังจากเพาะปลูกพืชไปแล้ว 15 วัน จนถึงก่อนวันเก็บเกี่ยวไม่เกิน 60 วัน และจะมีกระบวนการตรวจสอบ พื้นที่ จัดเก็บพิกัดแปลง กรณีแปลงใหม่ แต่สำหรับแปลงเดิมนั้น หลังจากรับแจ้งข้อมูลแล้ว จะใช้วิธีการปิดประกาศเป็นเวลา 3 วัน เพื่อการยืนยันหรือคัดค้านของเกษตรกรในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้น โดยเกษตรกรต้องมาลงนามรับรองข้อมูลของตนเองด้วย สำหรับเกษตรกรรายใหม่สามารถแจ้งขึ้นและปรับปรุงข้อมูลได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก ในส่วนของเกษตรกรรายเดิมสามารถปรับปรุงข้อมูลได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งหรือปรับปรุงผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำการปรับปรุงแอปพลิเคชัน Farmbook ให้สามารถตรวจสอบผลการรับเงินจากการเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 โครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย และมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ จากภาครัฐให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบการรับเงินได้ภายในแอปพลิเคชัน โดยการเข้าสู่ระบบ จากนั้นเลือกหัวข้อ "ติดตามสิทธิ์" แล้วเลือกชื่อโครงการที่ต้องการตรวจสอบ

  

"หากเกษตรกรปลูกข้าวหรือพืชอื่นแล้ว ให้เร่งมาปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวเกษตรกรเอง ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอติดตามการดำเนินงาน พร้อมทั้งกำชับ เร่งรัดให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามคู่มือการขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรอย่างเคร่งครัด ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรมาปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรโดยด่วน สำหรับเกษตรกรรายใหม่หรือแปลงใหม่ในการเพาะปลูก ให้สอบถามทางโทรศัพท์ไปยังสำนักงานเกษตรหรือผู้นำชุมชนถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564

วช. ชูงานวิจัยศึกษา “โรคไวรัสทิลาเปียเลค” ต้นเหตุโรคตายเดือนในปลานิล

รศ.ดร.น.สพ.วิน สุรเชษฐพงษ์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เชิดชูผลงานวิจัยดีเด่น การศึกษา “โรคไวรัสทิลาเปียเลค” โรคไวรัสอุบัติใหม่ที่เป็นสาเหตุการตายของลูกปลานิลในช่วงหนึ่งเดือนแรก โดยพบการแพร่ระบาดทั่วประเทศไทย ทั้งตามแม่น้ำหรือแหล่งน้ำที่มีการเลี้ยงปลาอย่างหนาแน่น ซึ่งงานวิจัยนี้จะนำไปสู่การป้องกันและควบคุมโรคอย่างยั่งยืน 

ตัวอย่างปลานิลที่ติดเชื้อไวรัส TiLV

ในขณะที่มนุษย์กำลังต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ปลานิลและปลานิลแดงซึ่งเป็นปลาที่มีการเพาะเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทยและมีมูลค่าการเลี้ยงสูงถึงปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท กำลังถูกคุกคามด้วยไวรัสอุบัติใหม่ที่ชื่อว่าทิลาเปียเลค (Tilapia Lake Virus) หรือ TiLV ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปลานิลในหลายประเทศทั่วโลกเกิดการติดเชื้อ และตายเป็นจำนวนมากจนการศึกษาวิจัยพบว่าเชื้อ TiLV เป็นสาเหตุของการตายดังกล่าว ปัจจุบันเชื้อ TiLV  มีรายงานการพบใน 16 ประเทศจาก 4 ทวีป 

ตัวอย่างปลานิลที่ถูกเชื้อไวรัส TiLV ทำลายอวัยวะภายใน

เชื้อไวรัส TiLV ทำให้ปลานิลที่ติดเชื้อมีอัตราการตายระหว่าง 20 - 90% โดยมีรายงานการค้นพบไวรัสดังกล่าวครั้งแรกที่อิสราเอลเมื่อปี พ.ศ. 2557 หลังจากนั้นอีก 1 ปีทีมนักวิจัยไทยนำโดย รศ.ดร.น.สพ.วิน สุรเชษฐพงษ์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค้นพบไวรัสดังกล่าวมีการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำที่เลี้ยงปลานิลของไทย โดยทีมวิจัยเริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาโรคปลานิลตายเดือน ซึ่งเป็นชื่อที่เกษตรกรใช้เรียกโรคที่ปลานิลตายอย่างผิดปกติ และนำมาสู่การค้นพบสาเหตุจากไวรัสชนิดใหม่นี้ 

ตัวอย่างปลานิลแดงที่ติดเชื้อไวรัส TiLV

ลักษณะของปลานิลที่ติดเชื้อไวรัส TiLV ว่ายบริเวณผิวน้ำ ตาโปน ท้องบวม หน้าแดง และไวรัสจะเข้าทำลายตับและอวัยวะภายในจนเสียหายอย่างหนัก ซึ่งนักวิจัยพบว่าเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในปลานิลมีการแพร่กระจายอยู่ตามแหล่งน้ำสำคัญทั่วประเทศไทย พบมากตามแม่น้ำหรือเขื่อนที่มีการเลี้ยงปลานิลอย่างหนาแน่น การศึกษาไวรัสชนิดนี้ได้รับความสนใจทั่วโลก รวมทั้งเริ่มมีการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังโรคเพื่อลดการแพร่ระบาดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ เครือข่ายด้านสัตว์น้ำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรมประมง ของประเทศไทย

รศ.ดร.น.สพ.วิน สุรเชษฐพงษ์
และปลานิลแดงที่เลี้ยงไว้ทดลอง

รศ.ดร.น.สพ.วินกล่าวว่า หลังจากพบไวรัสชนิดนี้ในเมืองไทย ทีมวิจัยจึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง และเมื่อจำแนกไวรัสได้ก็ทำให้สามารถศึกษาวิจัยได้ในหลากหลายแง่มุม เปรียบเหมือนการค้นพบไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งมีการศึกษาในหลายๆ ด้าน เช่น ตรวจแยกไวรัส ตรวจการกลายพันธุ์ ศึกษารูปแบบการติดเชื้อ วิธีการแพร่เชื้อ ปัจจัยการก่อโรค ถือเป็นองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้ เมื่อทราบถึงการติดโรคก็นำไปสู่การป้องกันและลดการติดเชื้อได้ โดยนับจากเริ่มตีพิมพ์ผลงานวิจัยการศึกษาเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันทีมวิจัยตีพิมพ์ผลงานวิจัยระดับนานาชาติเกี่ยวกับเชื้อไวรัส TiLV จำนวน 22 เรื่อง  

นักวิจัยเก็บตัวอย่างปลานิล

การศึกษาวิจัยโรคไวรัสทิลาเปียเลคยังได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ โดยได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดีเด่น สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปีงบประมาณ 2564 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทีมวิจัยต้องศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้เพิ่มเติม เช่น ธรรมชาติของเชื้อไวรัส ข้อมูลทางพันธุกรรม กลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและการทำลายเชื้อไวรัสในปลา กระบวนการที่เชื้อไวรัสแพร่กระจายในฝูงปลา การพัฒนาวิธีตรวจโรคในห้องปฏิบัติการ การพัฒนาชุดทดสอบที่มีความสะดวกสำหรับตรวจคัดกรองโรคในภาคสนาม การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค การศึกษาผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสต่อเกษตรกรที่เลี้ยงปลานิล

บ่อเลี้ยงปลานิล



วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

SUN แรงไม่หยุด ทุ่มงบ 125 ล้าน ซื้อที่ดิน 1,007 ไร่ รองรับการปลูกวัตถุดิบ

SUN ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ ภายใต้แบรนด์ "KC" ทุ่มงบ 125 ล้านบาท ซื้อที่ดิน 1,007 ไร่ ลุยพัฒนาโครงการขยายพื้นที่เพาะปลูก 

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN เปิดเผยว่า แม้ทั่วโลกจะเผชิญกับสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ความต้องการด้านอาหารของตลาดโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดการส่งออกของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การมีพื้นที่รองรับสำหรับเพาะปลูกวัตถุดิบข้าวโพดหวานและพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ป้อนให้โรงงาน เป็นแนวทางหนึ่งซึ่งจะช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจด้านเกษตรให้มีความมั่นคง และวัตถุดิบมีความสม่ำเสมอ 

ตามมติกรรมการบริษัทฯ ให้ดำเนินการซื้อที่ดินจาก นายยศเมธา จันทรวิโรจน์ 224 แปลง เนื้อที่ 1,007 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา เป็นจำนวน 125,000,000 บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบห้าล้านบาท) พื้นที่ตั้งอยู่ ในตำบลทุ่งปี้ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ห่างจากโรงงานประมาณ 15 กิโลเมตร และอยู่ใกล้กับศูนย์การเรียนรู้ KC Farm ถือเป็นการลงทุนต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางวัตถุดิบ และขยายโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ 

อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าว ยังมีความเหมาะสมในการพัฒนาเกษตรยุคใหม่ที่ทันสมัย รวมถึงการนำเทคโนโลยีการเกษตรมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูก และใช้เป็นฐานในการต่อยอดธุรกิจด้านอาหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของกลุ่มบริษัทฯ และสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทฯ ต่อไปในอนาคต





วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

รัฐมนตรี 'เฉลิมชัย' รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่หนองจอก มีนบุรี คลองสามวา และลาดกระบัง พร้อมเข้าดำเนินการภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น

 



       ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ใช้น้ำพื้นที่หนองจอก ณ อาคารอเนกประสงค์ สหกรณ์การเกษตรหนองจอก แขวงกะทุ่มราย เขตหนองจอก

       ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า ดีใจที่วันนี้ได้มารับทราบปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่หนองจอก มีนบุรี คลองสามวา และลาดกระบัง ซึ่งเป็นพี่น้องจำนวนมากที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องเข้ามาดูแล โดยเฉพาะพี่น้องที่ทำนาเป็นหลัก โดยปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในขณะนี้คือเรื่องน้ำ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการตามนโยบายและมติ ครม. ในการบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ และขอยืนยันว่าจะดำเนินการแก้ไขให้มีน้ำเข้าไปในไร่นาของเกษตรกรทุกคน โดยจะเรียก อธิบดีกรมชลประทานมาร่วมกันหารือ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมเข้าดำเนินการภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นในหน้าแล้ง อย่างไรก็ตาม ในนามของรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน และจะดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเข้าถึงพี่น้องประชาชนให้มากที่สุดด้วย







เกษตรฯ นำทีมผู้บริหาร ร่วมทดสอบการปฏิบัติงานนวัตกรรมรถเกี่ยวข้าวขนาดเล็ก กำชับหน่วยงานกระทรวงร่วมกันพัฒนาต่อยอดเร่งลดทุนการผลิตช่วยชาวนา


นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมการทดสอบการปฏิบัติงานนวัตกรรมรถเกี่ยวข้าวขนาดเล็ก  แปลงนาสาธิตของนางอาอีซ๊ะ สลัมสี แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก โดยนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อคิดค้นและพัฒนาโครงการ “นวัตกรรมรถเกี่ยวข้าวแบบเดินตามขนาดเล็ก” ขึ้น โดยใช้ตัวรถของรถไถนาแบบเดินตามทั่วไป ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด นำมาติดตั้งกับเครื่องยนต์ดีเซลและเพิ่มเครื่องตัดและกลไกสำหรับใช้เกี่ยวข้าวในแปลงนา ซึ่งเหมาะสำหรับแปลงนาประเภทที่ราบลุ่ม ข้าวล้มราบเรียบถึงข้าวตั้ง รวมไปถึงพืชการเกษตรอื่น ๆ ทั่วประเทศ


ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ทำให้เกษตรกรสามารถทำงานได้คนเดียว ข้าวที่ตัดได้นำมาตากเพียงแดดเดียวก็สามารถเข้าไปโรงสีได้ ตอซังข้าวมีขนาดสั้น เกษตรกรไม่ต้องเผา ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ รถเกี่ยวข้าวยังมีขนาดเล็ก ทำให้ประหยัดต้นทุน ประหยัดแรงงาน และสามารถนำไปใช้เอนกประสงค์กับต้นหญ้าหรือตัดหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือเพิ่มชุดโรตารี่สำหรับการเตรียมพื้นที่นาได้อีกด้วย ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง


อย่างไรก็ตามจากการดูการสาธิตเบื้องต้นพบว่าสามารถเกี่ยวข้าวได้เพียง1ไร่/1ชม.โดยวามรถต่อจอดในการพัฒนาได้จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันศึกษาและพัฒนาเครื่องเกี่ยวข้าวแบบเดินตามให้สามารถเกี่ยวข้าวได้ 2 - 3 ไร่/ชม. ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนที่เป็นค่าแรงในการเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรได้มากถึง 7 - 10 เท่า สำหรับในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวก็ควรมีการปรับตัวในการทำนาแบบดั้งเดิม ให้หันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดต้นทุนให้มากยิ่ง โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปช่วยในเรื่องการนำผลการศึกษาวิจัย เข้าไปช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นด้วย



สำหรับแปลงนาข้าวที่ใช้สาธิตนวัตกรรมรถเกี่ยวข้าวในครั้งนี้ เป็นแปลงนาของเกษตรกรในพื้นที่คลอง 12 เขตหนองจอก ที่ทำนาปีล่าช้า เนื่องจากในช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้ไม่สามารถทำนาปีได้ตามปกติ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จึงได้มอบหมายให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ เข้าไปช่วยเหลือด้วยการส่งน้ำเข้าคลองชลประทานที่รับน้ำจากคลองระพีพัฒน์ พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณประตูระบายน้ำ (ปตร.) กลางคลอง 8 - 9 และ ปตร.ปากคลอง 13 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลำเลียงน้ำ รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณ ปตร.พระธรรมราชา (ใหม่) สามารถช่วยเหลือพื้นที่ทำนาปีล่าช้าได้ โดยไม่มีผลผลิตเสียหาย ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่มีการทำการเกษตรประเภทนาข้าว (นาล่าช้า) จำนวน 310,473 ไร่ ซึ่งจะเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายเดือนมกราคม จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์


อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องสำรองไว้ใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ทำให้ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า